อนุสาวรีย์พระยาช้างเผือก บ้านสังขะ ต.สังขะ อ.สังขะ จ.สุรินทร์
อนุสาวรีย์ช้างเผือกแห่งนี้ ได้ดำเนินการก่อสร้างขึ้น ตามความประสงค์ของอาจารย์ หอม หงษ์แก้ว อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านสังขะ เมื่อครั้งท่านยังมีชีวิตอยู่ ด้วยเห็นว่าบ้านสังขะในอดีตเป็นเมืองสังฆะบุรี ที่บรรพบุรุษได้ช่วยกันทำคุณประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองด้วยดีตลอดมา โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2302 พระยาช้างเผือกได้แตกโรงมาจากกรุงศรีอยุธยา เชีงฆะ หัวหน้าหมู่บ้านพร้อมพวก ได้ช่วยกันจับพระยาช้างเผือกได้ ณ บริเวณเมืองสังฆะบุรีแห่งนี้
พ.ศ. 2547 คุณแม่สำออย หงษ์แก้ว ซี่งเป็นภรรยาอาจารย์หอม หงษ์แก้ว พร้อมบุตรธิดา จึงได้บริจาคเงินจำนวน 175,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ตามเจตนารมณ์ของท่าน โดยก่อสร้างบนที่ดินว่างเปล่าบริเวณสี่แยกบ้านสังขะ โดยทำพิธีเฉลิมฉลอง ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 ตรงกับ วันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 12 และมอบเป็นสาธารณะสมบัติ ให้ทุกฝ่ายช่วยกันดูแลบำรุงรักษา และเกิดความภูมิใจร่วมกันสืบไปตลอดกาล
ประวัติเมืองสังขะ
เมืองสังขะ หรือ สังฆะ เดิมเรียกว่าบ้านโคกอัจจะ หรือ อัจจะปนึง (โคกดงยาง) เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในเขตเขมรป่าดง มีเชียงฆะเป็นหัวหน้าหมู่บ้านคนแรก ซึ่งเป็นชาวส่วย หรือ กูย ที่พากันอพยพมาจากทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง แถบเมืองอัตตะปือแสนแป แขวงเมืองจำปาศักดิ์ของประเทศลาว พร้อมหัวหน้าชาวส่วยกลุ่มอื่นๆ ที่มาตั้งบ้านเรือนอยู่แถบลุ่มแม่น้ำมูล และบริเวณใกล้เคียง
ประมาณ พ.ศ. 2302 ในรัชสมัยของพรเจ้าอยู่หัวพระที่นังสุริยาอัมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์) ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้มีพระยาช้างเผือก แตกโรงหนีออกจากเมืองหลวงมาทางป่าดงใหญ่เขตอีสานตอนใต้ จึงมีพระบรมราชโองการให้พระยาสองพี่น้อง (เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และเจ้าพระยาสุรสีห์) พร้อมไพร่พลออกติดตามพระยาช้างเผือก มาทางเมืองพิมาย จนถึงเมืองเตา แถบลุ่มแม่น้ำมูล ซึ่งมี เชียงสี เป็นหัวหน้าหมู่บ้าน ได้พาคณะติดตามพระยาช้างเผือก เดินทางมาหาเชียงฆะ ที่บ้านโคกอัจจะปนึงแห่งนี้ จึงได้ทราบว่าพระยาช้างเผือกที่หนึแตกโรงมานั้น ได้หากินอยู่กับโขลงช้างป่า บริเวณทุ่งกันจาร ทุ่งพระยาปาง และลงกินน้ำบริเวณตะเปียงชูก (ปัจจุบันคือบริเวณตลาดสังขะพัฒนา) กลุ่มหัวหน้าชาวส่วยซึ่งมีความชำนาญในการคล้องช้าง ได้พากันแอบซุ่มดู ก็เห็นพระยาช้างเผือกซึ่งมีปลอกสีทองหุ้มอยู่ที่งาทั้งสองข้าง ก็แน่ใจ จึงได้จัดตั้งศาลขึ้น เพื่อประกอบพิธีบวงสรวงผีป่า เจ้าทุ่ง ตามพิธีกรรมการคล้องช้าง ณ บริเวณต้นยางแฝดริมห้วยสตึงแซน (ปัจจุบันคือ ศาลยายไตย์ ที่ตั้งอยู่บริเวณด้านตะวันตกวัดจำปา) จนสามารถจับพระยาช้างเผือกได้ แล้วนำมอบให้พระยาสองพี่น้อง เพื่อนำกลับกรุงศรีอยุธยาต่อไป
ภาพบน : ศาลยายไตย์
พระยาสองพี่น้องได้เบิกตัวเชียงฆะ และคณะชาวส่วยเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นบำเหน็จความชอบกันทุกคน เชียงฆะ เป็น "หลวงเพชร" และตั้งบ้านโคกอัจจะปนึง เป็นเมืองสังฆะบุรี ต่อมาโปรดเกล้าให้หลวงเพชรเป็น "พระสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ" ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2306 ชาวบ้านเรียกเมืองสังฆะบุรีว่า "ซรอกเมิง" มีเจ้าเมืองสืบทอดกันมาดังนี้
1. พระยาสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ (เชียงฆะ)
2. พระยาสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ (ทองด้วง)
3. พระยาสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ (ทองอินทร์)
4. พระยาสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ หรือ พระอนันต์ภักดี (นุต)
5. พระสังฆะศักดิ์สุนทรเขต หรือพระพนธ์ (ทองดี)
พ.ศ. 2450 ได้มีการปฏิรูปการปกครองท้องที่ เมืองสังฆะบุรีถูกยุบเป็นอำเภอสังขะ และย้ายที่ตั้งอำเภอไปอยู่ที่บ้านเขวาจนถึงทุกวันนี้
ดู อนุสาวรีย์พระยาช้างเผือก ในแผนที่ขนาดใหญ่กว่า
ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง
1. ศาลยายไตย์ บ้านสังขะ ต.สังขะ อ.สังขะ จ.สุรินทร์
2. วัดจำปา บ้านสังขะ ต.สังขะ อ.สังขะ จ.สุรินทร์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น