วันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2556

กู่กาสิงห์

กู่กาสิงห์ ตั้งอยู่ในวัดบูรพากู่กาสิงห์ ตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด

กู่กาสิงห์ เป็นสถาปัตยกรรมแบบเขมรอีกแห่งหนึ่ง มีขนาดค่อนข้างใหญ่และยังอยู่ในสภาพดีพอควร ขณะนี้สำนักงานโบราณคดี และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานี กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งและบูรณะให้เห็นสภาพชัดเจนสวยงามยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ประกอบด้วย ปรางค์ 3 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน มีวิหารหรืออาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เรียกว่าบรรณาลัย อยู่ทางด้านหน้าทั้งสองข้าง ทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพงซึ่งมีซุ้มประตูทั้ง 4 ทิศ ถัดออกไปเป็นคูน้ำรูปเกือกม้าล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง




ปรางค์ประธาน หรืออาคารหลักที่มี 3 องค์นั้น ตั้งเรียงอยู่บนฐานเดียวกันในแนวเหนือ-ใต้ แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปรางค์องค์กลางมีขนาดใหญ่กว่าอีก 2 องค์ที่ขนาบข้าง และมีมุขยื่นทางด้านหน้าเป็นห้องยาว มีประตูทางเข้า 3 ทาง คือด้านหน้าและด้านข้างของห้องยาวทั้งสอง ส่วนฐานขององค์ปรางค์ก่อด้วยศิลาทรายยังคงปรากฏลวดลายสลักเป็นชั้นเป็นแนว เช่น ลายกลีบบัวและลายกนก ผนังก่ออิฐ ที่ห้องในสุดหรือส่วนครรภคฤหะได้ค้นพบศิวลึงค์ ซึ่งเป็นตัวแทนของเทพสูงสุด (พระอิศวร) และความอุดมสมบูรณ์ตามลัทธิความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย นอกจากนี้ยังพบทับหลังอีกหลายชิ้น ชิ้นหนึ่งสลักเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณในซุ้มเรือนแก้ว โดยยืนอยู่เหนือหน้ากาล ซึ่งมีมือยึดจับท่อนพวงมาลัยอีกทีหนึ่ง และยังได้พบซุ้มหน้าบันสลักเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณท่ามกลางลายก้านขดอีกด้วย ส่วนปรางค์อีก 2 องค์ที่ขนาบนั้น มีขนาดและลักษณะเดียวกัน ฐานก่อด้วยศิลาทราย ผนังก่ออิฐมีประตูเพียงด้านหน้า ภายในมีแท่นรูปเคารพวางอยู่จากลวดลายของศิลปกรรม แบบแผนผังและโบราณวัตถุที่พบแสดงให้ทราบว่า กู่กาสิงห์สร้างขึ้นในแบบศิลปะเขมรที่เรียกว่า “แบบบาปวน” อายุราว พ.ศ. 1560-1630 เพื่อเป็นเทวสถานอุทิศถวายแด่พระอิศวร เทพเจ้าสูงสุดองค์หนึ่งในศาสนาพราหมณ์
       
การเดินทาง
สามารถเดินทางได้ 2 ทาง คือ ใช้เส้นทางร้อยเอ็ด-เกษตรวิสัย ทางหลวงหมายเลข 214 ระยะทาง 47  กิโลเมตร เดินทางต่อไปตามทางหลวงสายเกษตรวิสัย-สุวรรณภูมิ ประมาณ 10 กิโลเมตร มีทางแยกขวากู่กาสิงห์เป็นระยะทางอีก 10 กิโลเมตร หรืออาจใช้เส้นทางสายร้อยเอ็ด-สุวรรณภูมิ-สุรินทร์ (ทางหลวงหมายเลข 215 ต่อด้วย 214 ) ระยะทาง 60 กิโลเมตร ถึงวัดกู่พระโกนา ด้านตรงข้ามวัดมีทางแยกไปกู่กาสิงห์ ระยะทางอีก 18 กิโลเมตร


















































ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง
1. ผลการค้นหา คำค้น " กู่ "
2. ผลการค้นหา คำค้น " ปราสาท "
3. ผลการค้นหา คำค้น " ร้อยเอ็ด "


กู่โพนระฆัง

โบราณสถานกู่โพนระฆัง
กู่โพนระฆัง  ตั้งอยู่ชายเนินด้านทิศตะวันออกของบ้านกู่กาสิงห์ ตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานิเบกษา เล่ม ๙๙ ตอนที่ ๑๗/๒ (ฉบับพิเศษ) หน้า ๒๖ ลงวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๕ มีพื้นที่ประมาณ ๒ ไร่ ๑๗ ตารางวา




ประวัติการก่อสร้าง
กู่โพนระฆังเป็นศาสนสถานประเภท "อโรคยาศาล"  หรือ "ศาสนสถานประจำโรงพยาบาล" รูปแบบศิลปะบายน คติพุทธมหายาน สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แห่งราชอาณาจักรขอมโบราณ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ที่โปรดให้สร้างขึ้นตามชุมชนในเขตการปกครองของพระองค์อันเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนมายอมรับนับถือพุทธศาสนาตามแบบอย่างราชสำนักในเมืองพระนครแทนที่ศาสนาฮินดู

องค์ประกอบของโบราณสถาน
กู่โพนระฆังเป็นศาสนสถานสร้างด้วยหินศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก มีอิฐ และหินทรายเฉพาะในส่วนที่ต้องรับน้ำหนัก และแกะสลักลวดลาย

แผนผังประกอบด้วย
ปราสาทประธาน ๑ หลัง ตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีบรรณาลัย ๑ หลัง ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน มีกำแพงแก้วก่อล้อมเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่กึ่งกลางกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออก ซึ่งตรงกับด้านหน้าของปราสาทประธาน เจาะเป็นห้องรูปกากบาทเป็นซุ้มประตูทางเข้าที่เรียกว่าโคปุระ และมีลานทางเดินหินทรายเชื่อมจากหน้าปราสาทประธานถึงโคปุระ







































ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง
1. ผลการค้นหา คำค้น " กู่ "
2. ผลการค้นหา คำค้น " ปราสาท "
3. ผลการค้นหา คำค้น " ร้อยเอ็ด "