วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ถังตวงข้าวเปลือกสมัยโบราณ

เมื่อในสมัยอดีต มีการใช้ถังตวงข้าวเปลือกที่ทำจากไม้คุณภาพดี โดยปริมาตรที่ตวงได้ น้ำหนัก 20 กิโลกรัมต่อข้าวเปลือก 1 ถัง พ่อค้าหัวใสที่รับซื้อข้าวเปลือกในสมัยนั้น จะไปซื้อถังสำหรับตวงข้าวเปลือกจากที่ๆ ชาวบ้านให้ความเชื่อถือ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ แล้วนำถังตวงข้าวเปลือกที่ได้ไปดัดแปลง โดยทำการขูดเนื้อไม้ด้านในออกเพื่อให้บาง หวังให้ถังตวงมีปริมาตรที่เยอะขึ้นจากเดิม เมื่อรับซื้อข้าวเปลือกจะได้ข้าวเปลือกที่มีปริมาตรเพิ่มขึ้นโดยที่ชาวบ้านไม่รู้



และต่อมาชาวบ้านได้รับทราบถึงความไม่เที่ยงตรงของพ่อค้าที่รับซื้อข้าวเปลือกด้วยถังตวงข้าวเปลือกดัดแปลง (พ่อค้าที่รับซื้อข้าวเปลือกในสมัยนั้นเป็นเจ็ก มีหลายรายที่รับซื้อ ขอสงวนสิทธิ์ในการที่จะไม่เอ่ยถึง) เมื่อจะมีการซื้อขายข้าวเปลือกคราใด ชาวบ้านก็มักจะมายืมถังตวงข้าวเปลือกใบนี้ (ดังภาพที่แสดงอยู่ในหน้านี้) เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการตวงข้าวเปลือกเรื่อยมาจนถึงยุคตาชั่งเข้ามามีบทบาทในการชั่งน้ำหนักข้าวเปลือก ช่วงประมาณปี พ.ศ. 2500


ถังตวงข้าวเปลือกขนาดความจุ 20 กิโลกรัม สร้างเมื่อ ปี พ.ศ. 2479
ปัจจุบัน ถังข้าวเปลือกนี้มีอายุ 74 ปี
ข้อมูลโดย : (ปู่) นายทอง สมหวัง , อ้างอิง 20 ธ.ค. 2553
ถ่ายเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2553 ที่บ้านคุณแม่วิไลวรรณ กำลังกล้า 





ภาพบน : แบบแสดงโครงสร้างถังตวงข้าวเปลือกขนาดความจุ 20 กิโลกรัม

วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เขยสนม


สวัสดีครับพี่น้องชาวอำเภอสนมทุกท่าน เมื่องานลอยกระทงที่ผ่านมา หลายคนให้ความสนใจ และสงสัยใคร่อยากจะรู้จังนักเชียวว่า...คุณผู้หญิงในภาพนี้เป็นใคร สงสัยเป็นแฟนกับฝรั่ง ในขณะที่ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) ไปไหนมาไหน ก็มักจะโดนยิงคำถามว่า "ฝรั่งกับผู้หญิงนี้เป็นใคร" ข้าพเจ้าก็ตอบกลับไปว่า "ก็แล้วทำไมไม่เข้าไปถามเองล๊าาาา" ผ่านพ้นงานลอยกระทงมาก็หลายวัน ก็ยังมีคนถามข้าพเจ้าได้อยู่อีก เอ้า..!! เอาก็เอา... ในเมื่อสังคมคนบ้านเราให้ความสนใจ ก็จะขอขันอาสาไปถามให้ก็แล้วกัน... งั้นเราไปทำความรู้จักกับครอบครัวของ "คุณจิ๋ม" กันเลยคร๊าาาบบบบ....

บทสัมภาษณ์ (25 พ.ย. 2553)
การสัมภาษณ์เป็นภาษาพื้นบ้านลาวอีสานสนม ขอถอดใจความสื่อเป็นภาษาไทยกลางก็แล้วกันนะครับ

สวัสดีครับ "พี่จิ๋ม" ผมขอสัมภาษณ์หน่อย เรื่องแฟนพี่นั่นแหละครับ (ขำ)
พี่จิ๋ม : ได้ๆ แต่แฟนพี่ขณะนี้กำลังช่วยพ่อพี่ตากข้าว ขนข้าวอยู่นะ เตรียมข้าวขึ้นยุ้งฉางกันอยู่

ห๋า...ฝรั่งเนี่ยะอ่ะนะ จะทำงานแบบนี้
พี่จิ๋ม : จริ๊ง...จะดูมั๊ยหล่ะ กำลังแบกถุงข้าวอยู่เลย

น่าจะนานมากแล้วนะ...ที่ผมเห็นพี่จิ๋มพาแฟนพี่ที่เป็นฝรั่งมาบ้านเรา (บ้านสนม)
พี่จิ๋ม : ใช่ๆ 2 ปีแล้ว พี่เพิ่งได้มาบ้านเราอีก มาครั้งนี้ก็ได้มาลอยกระทง

แฟนพี่เป็นคนประเทศอะไรอ่ะครับ (ชาวบ้านให้ข้อมูลหนาหูว่า มาจากประเทศอเมริกา)
พี่จิ๋ม : แฟนพี่เป็นคนเยอรมัน อยู่ที่เมืองเคิร์นบอนด์

ลูกชายพี่น่ารักมาก ลูกสาวก็ด้วย อายุเท่าไหร่กันแล้วครับ พี่สอนให้เค้าพูดภาษาไรบ้าง
พี่จิ๋ม : คนโต ผู้ชายอายุ 3 ขวบ ส่วนคนเล็กผู้หญิง อายุ 1 ขวบ 2 เดือน กำลังหัดพูด ส่วนคนโต พูดไทยยังไม่ได้ แต่ฟังออกว่าเค้าพูดอะไรกัน พี่ก็จะสอนเค้าให้พูดได้ทั้ง 3 ภาษานั่นแหละ

3 ภาษานี่ ภาษาอะไรมั่งอ่ะครับ
พี่จิ๋ม : เยอรมัน ไทย แล้วก็อีสานบ้านเรานี่แหละ

ดีๆๆ ผมเห็นด้วย เห็นด้วยกับภาษาบ้านเรา (ขำ) แล้วพี่หล่ะครับ พูดภาษาเยอรมันได้มากน้อยแค่ไหนแล้ว
พี่จิ๋ม : พี่ก็ฝึกพูดไปเรื่อยๆ คิดว่าน่าจะได้สักประมาณ 60% แล้วหล่ะ

พี่ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยสิครับ ว่าพี่ไปจ๊ะเอ๋ กับแฟนพี่ได้อย่างไร
พี่จิ๋ม : (อมยิ้ม) ก่อนหน้าพี่ไปทำงานอยู่ที่ชลบุรี น้อย (ข้าพเจ้า) ก็เห็นพี่ขายของอยู่บ้านสนมด้วยมิใช่รึ (ผงกศรีษะ หงึกๆ) แล้วพี่สาวของพี่อ่ะ (นึกหน้าไม่ออกจริงๆ) เค้าอยู่ที่เยอรมันนั่นแหละ เป็นคนติดต่อแฟนพี่คนนี้ให้ ช่วงที่จีบกันใหม่ๆ ก็แลกรูปกันดูไปก่อน พอเจอกันเข้าจริงๆ พี่รู้สึกว่าเราต้องชะตากัน ยิ่งคบๆ กันไป ก็ยิ่งถูกโฉลก วันเวลาก็ล่วงเลยมาอย่างที่เห็นนี่แหละ (เห็นพี่จิ๋มหันไปสวีทกับแฟน 2 ฟอด ดีใจด้วยจัง)

อายุหล่ะ หมายถึง ทั้งพี่และก็แฟนพี่อ่ะครับ
พี่จิ๋ม : แฟนพี่อายุ 44 พี่ก็ 35

การใช้ชีวิตอยู่ที่เยอรมันเป็นอย่างไรบ้างครับพี่
พี่จิ๋ม : ก็เรื่อยๆ นะ เวลาส่วนใหญ่ก็เลี้ยงลูกอยู่กับบ้าน เพราะลูกๆ ก็ยังเล็กกันอยู่ ถ้าจะได้ออกไปเที่ยวรีแลกซ์ข้างนอก ก็ต้องเป็นวันอาทิตย์ เพราะแฟนพี่เค้าทำงานเป็นนายช่าง หาเวลาว่างแทบไม่ค่อยได้เลย เรื่องเวลาสำคัญมากสำหรับเค้า คนเยอรมันอื่นๆ ก็เช่นกัน นัดเป็นนัดต้องตรงเวลาเป๊ะๆ

แล้วเพื่อนบ้านที่เยอรมันหล่ะครับ เป็นอย่างไรบ้าง
พี่จิ๋ม : เค้าก็ดีนะ อยู่เป็นสัดส่วน ไม่พลุกบ้านเหมือนบ้านเรา (ขำ) ที่บ้านเรานั้น (บ้านสนม) จะเดินเข้าเดิืนออก บ้านใคร สวนใคร ก็ได้ สบายใจดีไม่ต้องคิดไร แต่สำหรับคนบ้านเค้า (เยอรมัน) ไม่ได้เลยหล่ะ เพราะเค้าต้องการความเป็นส่วนตัวสูง

พี่เคยได้ยินแฟนพี่เอ่ยชมบ้านสนมของเราบ้างไหมครับ
พี่จิ๋ม : เค้าก็บอกว่า ชอบบรรยากาศ ความเป็นกันเองของคนบ้านเรา มีอะไรก็แบ่งปันกัน มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ส่วนคนที่บ้านเค้าจะออกสไตล์ต่างคนต่างอยู่ เข้าใจป่ะ (ผงกศรีษะหงึกๆ) และอากาศที่บ้านเราก็ดี บริสุทธิ์ ไม่มีฝุ่นหรือควันรถให้รำคาญ

พี่จิ๋มคิดจะวางแผนอนาคตอย่างไรต่อไปครับ
พี่จิ๋ม : คิดว่า...ก็ต้องตั้งหลักปักฐานอยู่ที่เยอรมันอ่ะนะ ลูกๆ ก็ต้องเข้าโรงเรียนที่โน่น คิดว่าทุกๆ 2 ปี จะกลับมาเยี่ยมพ่อกับแม่ที่บ้านสนม

อยู่ที่เยอรมันพี่ใช้เงินสกุลอะไรอ่ะครับ
พี่จิ๋ม : ใช้เงินยูโร คิดเป็นเงินไทยก็ 40 บาท / 1 ยูโร

ขอบคุณครับ จบแร่ะ สัมภาษณ์พอหอมปากหอมคอละกันครับ ขอให้พี่จิ๋มประสบความสำเร็จในชีวิตครอบครัว และอาชีพการงาน และทุกๆ เรื่อง นะครับ
พี่จิ๋ม : จร้า..าาาา... (ยิ้ม)




มิสเตอร์เควิร์ท คุณสามีของคุณพี่จิ๋ม ในอิริยาบถที่กำลังแบกถุงข้าวเปลือก เพื่อเก็บที่ยุ้งฉาง
ถ่ายเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2553 ณ บ้านสนม อ.สนม จ.สุรินทร์



ลูกชาย บุตรคนแรกของครอบครัวคุณพี่จิ๋ม (คุณสุพัฒตรา)
ถ่ายเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2553 ณ บ้านสนม อ.สนม จ.สุรินทร์



ลูกสาว บุตรคนที่ 2 ของครอบครัวคุณพี่จิ๋ม (คุณสุพัฒตรา)
ถ่ายเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2553 ณ บ้านสนม อ.สนม จ.สุรินทร์



 ด้วยความกรุณาจากพ่อเมืองสนม ร่วมถ่ายรูปในกิจกรรมวันพ่อแห่งชาติ
ถ่ายเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2553 ณ บริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์

การอัดฟาง ด้วยเครื่องอัดฟาง


เครื่องจักรกำลังทำงาน "อัดฟาง" ในช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 วัน ฟางจะไม่ชื้น และเป็นเชื้อรา ฟางที่อัดได้เหมาะแก่การนำไปเป็นอาหารสัตว์จำพวก วัว ควาย ม้า หรือจะนำไปใช้สำหรับเป็นที่เพาะเห็ดฟาง หรือประยุกต์ใช้เพื่อความเหมาะสมอื่ืนๆ


การเดินทางของฟางที่อัดได้ในปริมาณที่มาก (หลายตัน) จะถูกส่งไปยังสถานที่เลี้ยงโคนม โคเนื้อ และสัตว์อื่นๆ ในระดับเศรษฐกิจแบบฟาร์ม และฟางส่วนใหญ่ที่ได้จากเขตพื้นที่ อ.สนม อ.รัตนบุรี และอำเภอท่าตูม ของจังหวัดสุรินทร์ นั้น เกษตรกรผู้เลี้ยงโคส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับฟางคุณภาพจากเขตพื้นที่ดังกล่าว


ก้อนฟางที่อัดได้จะมีการอัดแน่นเป็นพิเศษด้วยน้ำหนัก 30 - 35 กิโลกรัมต่อฟาง 1 แท่ง และฟาง 1 ไร่ สามารถอัดฟางด้วยเครื่องอัดฟางนี้โดยเฉลี่ย 40 - 50 แท่ง ราคาจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป แท่งละ 34 บาท


พบการอัดฟางด้วยเครื่องอัดฟาง ได้ตามท้องนาเขตพื้นที่ อ.สนม อ.รัตนบุรี อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ช่วงระหว่างปลายเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมกราคม ของทุกปี



**** หมายเหตุ : รับอัดฟาง (สำหรับเจ้าของนา) แท่งละ 18 บาท และจำหน่ายฟางอัดแท่งๆ ละ 34 บาท หรือสนใจข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ "คุณจอห์น" (อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์) โทร. 087 456 6591

วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การแข่งขันกีฬาสี คปสอ.สนม ประจำปี 2553

สถานที่แข่งขันกีฬาสี ณ โรงพยาบาลสนม อ.สนม จ.สุรินทร์ ระหว่างวันที่ 22 - 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 โดยเริ่มขบวนพาเหรด เวลา 08.00 น. บริเวณถนนหน้าวัดศรีสว่างโคกสะอาด ชุมชนโคกสะอาด ต.สนม อ.สนม จ.สุรินทร์ ไปยังปลายทางที่โรงพยาบาลสนม ในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

































































ดู + โรงพยาบาลสนม ในแผนที่ขนาดใหญ่กว่า



ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง
1. โรงพยาบาลสนม อ.สนม จ.สุรินทร์