วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ปราสาทภูมิโปน

ปราสาทภูมิโปน   ปราสาทเก่าที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่... บ้านภูมิโปน ต.ดม อ.สังขะ จ.สุรินทร์


ปราสาทภูมิโปน เป็นปราสาทหลังใหญ่ มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ก่อด้วยอิฐ ไม่สอปูนแบบศิลปะขอมรุ่นเก่า ซึ่งอาจเทียบได้กับกลุ่มปราสาทขอมสมัยก่อนเมืองพระนคร สันนิษฐานว่าปราสาทนี้น่าจะเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย พบชิ้นส่วนจารึกเป็นตัวอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ซึ่งมีใช้ในราวพุทธศตวรรษที่ 12 - 13



Prasat Phumpon

Probably a Hindu temple devoted to the God Siva , was built of bricks in the Pre-angkor style. A stone inscription with south indian and sanskrit characters dating back to the 7th-8th century A.D., was excavated during a survey of the area by archaeologists.


The complex occupies 4 ancient structures - 3 brick and 1 laterite,  lying in North - Sounth direction.  The big brick structure and the northern one remain in rather good condition.  These two structures are among the oldest Khmer ruins in Thailand,  presumably erected in the 6 th  - 7 th centuries.  The brick one in the middle and the laterite in the South were seemingly built later.

This complex was meant to be a Hindu religious site like other contemporary ones.  No lingum is discovered,  but in the big edifice there remains Somasutra,  a pipe to convey sacred water from the platform of the statue  in the central room.



ปราสาทภูมิโปน ตำบลดม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ก่อสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 12 - 13 นับเป็นศาสนสถานศิลปะขอมที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

ปราสาทภูมิโปน ประกอบด้วยอาคาร 4 หลัง ตั้งเรียงกันในแนวทิศเหนือ - ใต้ อาคารที่มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ คือ ปราสาทอิฐหลังใหญ่ ก่อด้วยอิฐไม่สอปูน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก หลังคาซ้อนเป็นชั้น ใต้หน้าบันเหนือทับหลังขึ้นไปปรากฏลายสลักเป็นรูปใบไม้ม้วนแบบศิลปะคุปตะรุ่นหลังของอินเดีย ส่วนอาคารอิฐอยู่ด้านข้าง เหลือแต่เพียงส่วนฐาน และกรอบประตู ยังมีอาคารอิฐอีกหลังหนึ่งอยู่ห่างไปทางเหนือราว 30 เมตร สภาพชำรุด พบทับหลัง 1 ชิ้น ลวดลายที่แกะสลักมีรูปแบบศิลปะลพบุรี หรือ ศิลปะขอมที่พบในประเทศไทย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 - 13 นอกจากนี้ยังมีฐานอาคารอีกหลังหนึ่ง ก่อสร้างด้วยศิลาแลง สันนิษฐานว่าเป็นฐานของอาคารโถง มีหลังคาคลุม


Prasat Phumphon is located at Tambon Dom , Amphoe Sangkha , Changwat Surin. It was built as a Hindu temple during the 7th Century AD. Prasat Phumphon is one of the oldest known Khmer Temple in Thailand.

Prasat Phumphon is made up four structures facing east on a north-south axis. One building that remains in a relatively complete condition is a brick tower with a square plan which is common to pre-Angkorian structures. Just north of the brick tower , there is another brick structure. The only surviling parts are its base and the doorframe. Approximately 30 metres to the north , there are remains of a square brick building where a decorative lintel in the Pri Khmeng style was found. To the south of the main tower is a laterite base. It was probably an open pavilion with a tiled roof.


การเดินทาง
จากจังหวัดสุรินทร์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 2077 (สุรินทร์ - สังขะ) ระยะทาง 49 กิโลเมตร จากแยกอำเภอสังขะ เข้าทางหลวง หมายเลข 2124 (สังขะ - บัวเชด) ตรงต่อไป จนถึง ชุมชนบ้านภูมิโปน ระยะทางอีก 10 กิโลเมตร จะเห็นปราสาท ตั้งอยู่ริมถนน ด้านซ้ายมือ



ลักษณะปราสาท
ปราสาทภูมิโปน ประกอบด้วย โบราณสถาน 4 หลัง คือ ปราสาทก่ออิฐ 3 หลัง และศิลาแลง 1 หลัง มีอายุการก่อสร้าง อย่างน้อย 2 สมัย ปราสาทก่ออิฐหลังใหญ่ และหลังทางทิศเหนือสุด นับเป็นปราสาท แบบศิลปะเขมร ที่มีอายุเก่าที่สุด ในประเทศไทย คือราวพุทธศตวรรษที่ 13



ส่วนปราสาทอิฐหลังเล็ก ที่ตั้งตรงกลาง และปราสาทที่มีฐานศิลาแลง ด้านทิศใต้นั้น สร้างขึ้นในสมัย หลังปราสาทภูมิโปน คงจะสร้างขึ้น เป็นศาสนสถาน ในศาสนาฮินดู ไศวนิกาย เช่นเดียวกับศาสนสถานอื่นๆ ในรุ่นเดียวกัน แม้จะไม่พบ รูปเคารพ ซึ่งควรจะเป็นศิวลึงค์ อยู่ภายในองค์ปรางค์


แต่ที่ปรางค์องค์ใหญ่ยังมี ท่อโสมสูตร คือ ท่อน้ำมนต์ ที่ต่อออกมา จากแท่นฐานรูปเคารพ ในห้องกลาง ติดอยู่ที่ผนังในระดับพื้นห้อง


ตำนานปราสาทภูมโปน
ตำนาน เนียง ด็อฮ ทม ราชธิดาขอมผู้ปกครองเมืองภูมิโปนองค์สุดท้าย เป็นตำนานของปราสาทภูมิโปน อ.สังขะ จ.สุรินทร์ มีเรื่องเล่าว่า ที่สระลำเจียก ห่างจากตัวปราสาทไปทางทิศตะวันออกประมาณ 200 เมตร มีกลุ่มต้นลำเจียกขึ้นเป็นพุ่มๆ ต้นลำเจียกที่สระน้ำแห่งนี้ไม่เคยมีดอกเลย ในขณะที่ต้นอื่นๆนอกสระต่างก็มีดอกปกติ ความผิดปกติของต้นลำเจียกที่สระลำเจียกหน้าปราสาทจึงเป็นที่มาของตำนานปราสาทภูมิโปน การสร้างเมืองและการลี้ภัยของราชธิดาขอม

กษัตริย์ขอมองค์หนึ่งได้สร้างเมืองลับไว้กลางป่าใหญ่ชื่อว่าปราสาทภูมิโปน ต่อมาเมื่อเมืองหลวงเกิดความไม่สงบ มีข้าศึกมาประชิดเมือง กษัตริย์ขอมจึงส่งพระราชธิดาพร้อมไพร่พลจำนวนหนึ่งมาหลบซ่อนลี้ภัยที่ภูมิโปน พระราชธิดานั้นมีพระนามว่า พระนางศรีจันทร์หรือ เนียง ด็อฮ ทม แต่คนทั่วไปมักเรียกนางว่า พระนางนมใหญ่

กล่าวถึงเจ้าเมืองอีกเมืองหนึ่งได้ส่งพรานป่าเจ็ดคน พร้อมเสบียงกรังและช้าง 1 เชือก ออกล่าจับสัตว์ป่าเพื่อจะนำมาเลี้ยงในอุทยานของพระองค์ พรานป่ารอนแรมจนมาหยุดพักตั้งห้างล่าสัตว์อยู่ที่ ตระเบีย็ง เปรียน แปลว่าหนองน้ำของนายพราน ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของบ้านตาพรม ในปัจจุบันในที่สุดกลุ่มพรานสามในเจ็ดคน ก็ดั้นด้นจนไปพบปราสาทภูมิโปน และไปได้ยินกิตติศัพท์ความงามของพระนางศรีจันทร์เข้า พรานทั้งเจ็ดจึงได้ปลักลอบแอบดูพระนางศรีจันทร์สรงน้ำ และเห็นว่านางมีความงามสมคำร่ำลือจริง จึงรีบเดินทางกลับเพื่อไปรายงานพระราชา พระราชายินดีปรีดามาก รีบจัดเตรียมกองทัพเพื่อไปรับนางมาเป็นพระชายาคู่บารมี

ฝ่ายพระนางศรีจันทร์หลังจากวันที่ไปสรงน้ำก็เกิดลางสังหรณ์ กระสับกระส่ายว่ามีคนมาพบที่ซ่อนของนางแล้ว เมื่อบรรทมก็ฝันว่าได้ทำกระทงเสี่ยงทาย ใส่เส้นผมเจ็ดเส้น อันมีกลิ่นหอมและเขียนสาส์นใจความว่าใครเก็บกระทงของนางได้ นางจะยอมเป็นคู่ครอง ในกระทงยังให้ช่างเขียนรูปของนางใส่ลงไปด้วย เมื่อตื่นขึ้นมานางจึงได้จัดการทำตามความฝัน(ด้วยการที่นางเอาผมใส่ในผอบเครื่องหอม ผมนางจึงหอม นางจึงได้ชื่อว่า เนียง ช็อก กระโอบ หรือนางผมหอมอีกชื่อหนึ่ง) และนำกระทงไปลอย ณ สระลำเจียกหน้าปราสาท กระทงของนางได้ลอยไปยังอีกเมืองหนึ่งชื่อว่าเมืองโฮลมาน และราชโอรสของเมืองนี้ได้เก็บกระทงของนางได้ ทันทีที่เจ้าชายเปิดผอบก็หลงรักนางทันที เจ้าชายโอลมานนั้นมีรูปร่างไม่หล่อเหลา แต่มีฤทธานุภาพมากในเรื่องเวทมนตร์คาถาและได้ชื่อว่ารักษาคำสัตย์เป็นที่ตั้ง พระองค์จึงไปสู่ขอนางตามประเพณีเพราะเป็นผู้เก็บผอบได้ แต่เหตุการณ์กลับตาลปัตร เมื่อพระนางศรีจันทร์ได้เห็นรูปร่างของเจ้าชายโฮลมานนางจึงได้แต่นิ่งอึ้งและร้องไห้ เจ้าชายโฮลมานทรงเข้าพระทัยดีเพราะรู้ตัวว่าตัวเองมีรูปร่างอัปลักษณ์ แต่ด้วยความรักที่พระองค์มีต่อพระนางศรีจันทร์ พระองค์จึงไม่บังคับที่จะเอาตัวนางมาเป็นชายา กลับช่วยพระนางขุดสระสร้างกำแพงเมือง และสร้างกลองชัยเอาไว้ เพื่อให้พระนางตียามมีเหตุเดือดร้อนต้องการให้พระองค์ช่วยเหลือ พระองค์จะมาช่วยเหลือนางโดยทันที โดยห้ามตีด้วยเหตุไม่จำเป็นเป็นอันขาด

กล่าวถึงชายหนุ่มอีกคนหนึ่งที่มาหลงรักพระนางศรีจันทร์ นั่นคือบุญจันทร์นายทหารคนสนิท ที่พระราชบิดาของพระนางศรีจันทร์ไว้วางพระราชหฤทัย ให้รับใช้ใกล้ชิดพระนางศรีจันทร์ ด้วยความใกล้ชิดทำให้บุญจันทร์หลงรักพระนางศรีจันทร์ แต่พระนางศรีจันทร์ก็ไม่ได้มีใจตอบกับบุญจันทร์ ยังคงคิดกับบุญจันทร์แค่เพื่อนสนิทเท่านั้น วันหนึ่งบุญจันทร์ได้เห็นกลองชัยที่เจ้าชายโฮลมานให้พระนางไว้ ก็นึกอยากตี จึงไปร่ำร้องกับพระนางทุกเช้าเย็น อยากจะขอลองตีกลอง พระนางทนไม่ไหวพูดประชดทำนองว่า ถ้าอยากตีก็ตีไป เพราะคงจะไม่ได้พบกันอีกแล้ว บุญจันทร์หน้ามืดตามัวด้วยคิดว่านางมีใจให้เจ้าชายโฮลมาน ก็ไปตีกลอง เจ้าชายโฮลมานและไพร่พลก็ปรากฏตัวขึ้นทันที เพราะนึกว่าพระนางศรีจันทร์มีเหตุร้าย พระนางศรีจันทร์เสียใจมาก เมื่อต้องบอกถึงเหตุผลที่ตีกลองให้เจ้าชายทราบ เจ้าชายโฮลมานตำหนิพระนาง และเป็นอันสิ้นสุดสัญญาที่ให้ไว้กับพระนางทันที พระองค์จะไม่มาช่วยเหลือพระนางอีกแล้วแม้จะตีกลองเท่าไหร่ก็ตาม

กล่าวฝ่ายพระราชาที่ส่งพรานป่าเจ็ดคน มาล่าสัตว์แล้วมาพบพระนางในตอนแรกนั้น ก็ส่งทัพมาล้อมเมืองภูมิโปนไว้ พระนางจึงหนีเข้าไปหลบภัยในปราสาทและคิดที่จะยอมตายเสียดีกว่า เพราะคนที่มาหลงรักพระนางแต่ละคนนั้น คนหนึ่งแม้จะเพียบพร้อมก็มีความอัปลักษณ์ คนหนึ่งก็มีความต่างศักดิ์ ด้านชนชั้นจนไม่อาจจะรักกันได้ และยังมีข้าศึกมาประชิดเมืองหมายจะเอาพระนางไปเป็นชายาอีก พระนางจึงพยายามหลบไปด้านที่มีการยิงปืนใหญ่ ตั้งใจจะโดนกระสุนให้ตาย แต่พระนางก็กลับไม่ตายแต่ได้รับบาดเจ็บ แขนซ้ายหักและมีแผลเหนือราวนมด้านซ้ายเล็กน้อย(ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านดม-ภูมิโปนจะสังเกตเด็กผู้หญิงคนใดมีลักษณะแขนด้านซ้ายเหมือนเคยหัก และมีแผลเป็นเหนือราวนมด้านซ้าย จะสันนิษฐานว่าพระนางด็อฮ ทม กลับชาติมาเกิด) เมื่อพระราชาตีเข้าเมืองได้จึงรีบรักษานาง ไม่ช้าพระนางก็หาย พระราชาจึงเตรียมยกทัพกลับและจะนำพระนางกลับเมืองด้วย พระนางจึงขออนุญาตพระราชาเป็นครั้งสุดท้ายขอไปอาบน้ำที่สระลำเจียก และปลูกต้นลำเจียกไว้กอหนึ่ง พร้อมกับอธิษฐานว่าถ้าพระนางยังไม่กลับมาที่นี่ขอให้ต้นลำเจียก อย่าได้ออกดอกอีกเลย หลังจากนั้นพระนางก็ถูกนำสู่นครทางทิศตะวันตก ไปทางบ้านศรีจรูก พักทัพและฆ่าหมูกินที่นั่น (ซี จรูกแปลว่ากินหมู) ทัพหลังตามไปทันที่บ้านทัพทัน (ซึ่งกลายเป็นชื่อบ้านในปัจจุบัน) และเดินทางต่อมายังบ้านลำดวน พักนอนที่นั่น มีการเลี้ยงฉลองรำไปล้มไป รำล้มในภาษาเขมรคือ เรือ็ม ดูล ซึ่งเป็นชื่อของ อ.ลำดวนในปัจจุบัน

ดังนั้นคำว่าภูมิโปน จึงมีความหมายโดยรวมว่า หมู่บ้านแห่งการหลบซ่อน (ภูมิ แปลว่า หมู่บ้าน โปน แปลว่า หลบซ่อน อีกความหมายหนึ่งแปลว่า มะกอก)





ภาพบน และล่าง : ปรางค์ประธาน (ปราสาทภูมิโปน) The Principal Prang



ภาพบน และล่าง : ซากโบราณสถานที่สร้างด้วยอิฐ (ปราสาทภูมิโปน) The Brick Ruin



ภาพบน และล่าง : ซากโบราณสถานที่สร้างด้วยศิลา (ปราสาทภูมิโปน) The Laterite Ruin


































ภาพบน และล่าง : ปรางค์ (ปราสาทภูมิโปน) Prang
























ภาพบน และล่าง : ต้นลำเจียก
ชื่อไทย : ลำเจียก การะเกด เตยทะเล
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Pandanus tectorius Blume

ตำนานพระนางศรีจันทรา (เนียง ด็อฮ ทม) ราชวงศ์พระจันทร์ เจ้าหญิงแห่งภูมิโปน ได้ปลูกต้นลำเจียกเสี่ยงทาย ก่อนนางออกจากภูมิโปนไปเป็นมเหสีกษัตริย์แห่งนครนายพราน














ดู ปราสาทภูมิโปน ในแผนที่ขนาดใหญ่กว่า



ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง
1. ปราสาทเมืองที บ้านเมืองที ต.เมืองที อ.เมือง จ.สุรินทร์
2. ปราสาทศีขรภูมิ ต.ระแงง อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์
3. ปราสาทจอมพระ ต.จอมพระ อ.จอมพระ จ.สุรินทร์
4. ปราสาทยายเหงา บ้านพูนทราย ต.บ้านชบ อ.สังขะ จ.สุรินทร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น