วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

โครงการบวชป่าหนองย่าจันทร์เฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา

โครงการบวชป่าหนองย่าจันทร์เฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๔

กิจกรรมบวชป่า ณ ป่าชุมชนหนองย่าจันทร์ อำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์

กิจกรรมนิทรรศการ, โรงทาน, ประชุมประชาสังคม ณ ที่ว่าการอำเภอสนม


ความเป็นมา
ประชาคมชุมชนในเขตป่าชุมชนหนองย่าจันทร์ ได้แก่ บ้านโคกสะอาด บ้านสำโรง ตำบลสนม และบ้านปะ ตำบลหนองระฆัง อำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์ ได้ดำเนินกิจกรรมในหลายรูปแบบ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการอนุรักษ์ "ป่าชุมชนหนองย่าจันทร์" และปลูกจิตสำนึกทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ การดำเนินกิจกรรมในแต่ละเรื่อง จะเปิดโอกาสให้กับสมาชิกทุกคนมีส่วนร่วม ในการแสดงความคิดเห็น และได้ปฏิบัติจริงอย่างเต็มที่ และมีการประชุมประชาคมเรื่อยมา โดยมีกรอบของกฏหมาย และพื้นที่สาธารณประโยชน์ ที่มีหลักฐาน ทั้งที่เป็นเอกสาร และตัวบุคคลในการอธิบายเรื่องราวผืนป่าแห่งนี้


การอนุรักษ์ป่าชุมชนหนองย่าจันทร์ยังจะช่วยปลูกจิตสำนึกให้เด็ก และเยาวชนเข้าถึงธรรมชาติได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยใช้เทคนิควิธีอย่างหลากหลาย เช่น กิจกรรมค่ายเรียนรู้ธรรมชาติ เป็นวิธีการที่ทำให้สมาชิกค่ายได้ตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติ โดยเด็ก และเยาวชนจะได้เข้าไปสัมผัสกับธรรมชาติจริงๆ ที่แตกต่างจากมโนธรรม วีดีทัศน์ รูปถ่าย ธรรมชาติเป็นผู้หล่อหลอมจิตใจอันหยาบกระด้าง ให้อ่อนโยนลง กิจกรรมสำรวจป่าตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เป็นกิจกรรมให้เกิดการศึกษาเรียนรู้ว่า...สรรพสิ่งในธรรมชาติมีระบบนิเวศที่สลับซับซ้อน มีคุณประโยชน์ต่อลมหายใจของมนุษย์ กิจกรรมดูนก เป็นกิจกรรมที่ทำให้รู้ถึงชีวิต การดำรงอยู่ การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันในห่วงโซ่อาหารที่มีอยู่ในธรรมชาตินั้นๆ อีกทั้งในอนาคต ป่าชุมชนหนองย่าจันทร์ยังจะสามารถเป็นบทเรียนให้เด็ก และเยาวชนนำความรู้ที่ได้รับ ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำ "ธนาคารต้นไม้" หรือ "สมุนไพรจากป่า" หรือ "ตู้กับข้าวชาวสนม" หรือ "ผลไม้จากป่า" หรือ "ผักพื้นบ้าน" โดยการเพาะขยายพืชพันธุ์ เป็นต้น

ในอดีตคนโบราณมีการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมอย่างแยบยล โดยการสร้างระเบียบการใช้ทรัพยากรแฝงอยู่ในความเชื่อของคน เช่น ศาลปู่ตา หรือศาลเจ้าปู่ คือรูปแบบของการจัดการของคนในอดีตทั้งป่าไม้ แหล่งน้ำ ซึ่งทรัพยากรเหล่านั้นมีอยู่อย่างจำกัด บางอย่างเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลาของมันเอง แต่บางอย่างจะเสื่อมโทรมได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์เป็นผู้กระทำ หากใช้ไม่จำกัด เราก็ไม่สามาารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งคนสมัยโบราณนั้น จะเข้าใจถึงปัญหาข้อนี้ดี ชาวบ้านจึงคิดระบบการอนุรักษ์เอาไว้ เพื่อให้มีอยู่มีกินอย่างยั่งยืน

ประชาคมชุมชนป่าหนองย่าจันทร์ ได้มีการประชุมสมาคมอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับอำเภอสนม กลุ่มซอมสนม สภาเด็กและเยาวชนอำเภอสนม ซึ่งได้จัดให้มีโครงการบวชป่าหนองย่าจันทร์เฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ขึ้นในวันจันทร์ที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๔ โดยภายใต้กิจกรรมดังกล่าวยังจัดให้มีกิจกรรมร่วม คือ การเดินขบวนรณรงค์อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กิจกรรมบวชป่า กิจกรรมแสดงนิทรรศการ กิจกรรมโรงทาน และกิจกรรมประชุมประชาสังคมจัดทำแผนพัฒนาอำเภอแบบบูรณาการ (SANOM MODEL) เพื่อนำเสนอสถานการณ์ป่าชุมชนหนองย่าจันทร์ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม เพื่อสร้างเครือข่ายแนวร่วมในการเสริมสร้าง และพัฒนาองค์ความรู้จากป่าชุมชนหนองย่าจันทร์ และมีประชาคมบริหารจัดการป่าชุมชนหนองย่าจันทร์ และมีประชาคมบริหารจัดการป่าชุมชนที่เข้มแข็ง และเพื่อผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนระบบ และกลไกความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในการพัฒนาอำเภอสนม ตามแผนพัฒนาบูรณาการ (SANOM MODEL)

ผู้ประสานงานโครงการ
อำเภอสนม กลุ่มซอมสนม สภาเด็กและเยาวชนอำเภอสนม ร่วมกับประชาคมชุมชนบ้านโคกสะอาด บ้านสำโรง ตำบลสนม และประชาคมชุมชนบ้านปะ ตำบลหนองระฆัง อำเภอสนม
















































































































































































































ดู ป่าหนองย่าจันทร์ ในแผนที่ขนาดใหญ่กว่า




ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง
1. ร่วมปลูกป่าวันแม่ @ บ้านสำโรง ต.สนม อ.สนม จ.สุรินทร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น