วันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ทำบุญสู่ขวัญข้าว วันชาวนา บ้านสนม

 วันสู่ขวัญข้าว บ้านสนม ต.สนม อ.สนม จ.สุรินทร์ และเป็นวันชาวนาสำหรับชุมชนแห่งนี้ มีการทำพิธีสู่ขวัญข้าวในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 เป็นประจำทุกปี และปีนี้ตรงกับวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

วันข้าว และวันชาวนา ของชุมชนบ้านสนมแห่งนี้ ไม่ตรงกับ "วันข้าว และวันชาวนาแห่งชาติ" ตามที่รัฐได้กำหนด คือ วันที่ 5 มิ.ย. ของทุกปี


ประวัติ และความเ็ป็นมา " วันสู่ขวัญข้าว และวันชาวนา "
จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ เล่าว่า... ตั้งแต่เกิดมาในช่วงที่เริ่มจำความได้ก็พบเห็นพิธีสู่ขวัญข้าวแล้ว รุ่นปู่ย่าตายายของผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังว่า การทำพิธีสู่ขวัญข้าวมีมาก่อนที่ผู้เฒ่าผู้แก่ยังไม่เกิด (อ้างอิง : ผู้เฒ่าผู้แก่ในปัจจุบัน อายุระหว่าง 70-95 ปี , 6 มิ.ย. 54, บ้านสนม ต.สนม อ.สนม จ.สุรินทร์)

ก่อนวันทำพิธีสู่ขวัญข้าว 1 วัน ซึ่งตรงกับวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 ผู้คนในชุมชนได้นำข้าวเปลือก มาเทกองรวมกัน ในปริมาณตามแรงศรัทธา  เวลาค่ำย่ำลงของวันนี้ เมื่อชาวบ้านได้ว่างเว้นจากภาระกิจส่วนตัว ก็จะรวมกลุ่มเพื่อทำบุญข้าว โดย..พระสงฆ์ผู้ทำพิธีสวดพุทธมงคล เมื่อเสร็จจากการทำบุญข้าวแล้ว ชาวบ้านร่วมสร้างความบันเทิงเล็กๆ น้อยๆ ภายในกลุ่มที่จะสู่ขวัญข้าวของตน

เช้าของวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 มีการร่วมทำบุญตักบาตร และต่อด้วยการทำพิธีสู่ขวัญข้าว ตามแบบพิธีบายศรีสู่ขวัญของพราหมณ์

เสร็จจากพิธีสู่ขวัญข้าวแล้ว ชาวนาจะออกไปยังที่นาของตนเพื่ออัญเชิญพระแม่โพสพมายังยุ้งฉางข้าว ด้วยความเชื่อว่า...นับหลังจากการทำพิธีสู่ขวัญข้าวแล้ว ต่อไปจะเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูแล้ง และมีอากาศร้อน อยากให้พระแม่โพสพได้อยู่เย็น สุขสบาย จึงได้อัญเชิญจากที่นามายังยุ้งฉางที่ใช้เก็บข้าวเปลือกนั่นเอง

อาหารที่ใช้อัญเชิญพระแม่โพสพ และทำบุญสู่ขวัญข้าวนั้น ได้แก่ ผลไม้ต่างๆ โดยให้ความสำคัญกับกล้วยเป็นลำดับต้นๆ , น้ำตาล , ข้าวหุงสุก (ข้าวสวย) , น้ำ , ดอกไม้, ธูป, เทียน และอื่นๆ และควรทำพิธีกรรมให้แล้วเสร็จก่อนเที่ยง เพราะถ้าหลังจากเวลาเที่ยงวันไปแล้ว พระแม่โพสพ จะไม่มาตามคำอัญเชิญ

จากคำบอกเล่าเพิ่มเติมของผู้เฒ่าผู้แก่ที่นี่ เล่าตามความเชื่อที่สืบต่อกันมาว่า... นับจากวันที่ทำบุญสู่ขวัญข้าวแล้ว 3 วัน จะต้องปิดตายยุ้งฉาง ไม่มีการกระทำใดๆ เกี่ยวกับข้าวในยุ้งเด็ดขาด เพื่อแสดงความเคารพต่อพระแม่โพสพ ดังนั้นหากใครมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ข้าวเพื่อกิจกรรมใดๆ ใน 3 วันนี้ไม่ได้ ก็ควรให้ตักข้าวออกมาจำนวนหนึ่งตามที่ต้องการก่อนที่จะมีการสู่ขวัญข้าวดังกล่าว รอให้พ้นเป็นวันที่ 4 ไปแล้ว จึงจะใช้ข้าวในยุ้งฉางของตนได้ และใน 3 วันนี้ เชื่อว่า...กบจะไม่มีปาก และจะไม่ได้ยินเสียงกบตลอด 3 วันนี้ ในสมัยก่อนได้มีการค้นหากบเพื่อพิสูจน์ในช่วง 3 วันดังกล่าว พบว่า...กบไม่มีปากจริงตามความเชื่อมาแต่โบราณ (โปรดใช้วิจารณญาณ)

และในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 จะมีการอัญเชิญพระแม่โพสพกลับไปยังที่นาอีกครั้ง เพราะเป็นช่วงเริ่มต้นแห่งการทำนา ในฤดูฝนที่จะมาถึง


พระแม่โพสพ
พระแม่โพสพเป็นนางฟ้าอยู่บนสวรรค์ เป็นสนมเอกขององค์อัมรินทร์ธิราช วันหนึ่งก็นำดอกไม้ไปถวายองค์อัมรินทราธิราช พระองค์ก็มองเห็นว่า แม่โพสพซึ่งมีเนื้อเหลืองดังทองนั้นผิวดูหม่นลง จึงบอกให้นางเสียสละเนื้อให้แก่ชาวโลก นางก็เสด็จลงมาโดยเก็บดอกไม้สวรรค์มาด้วย มาหาฤาษีตาไฟ ฤาษีตนนี้ปกติจะนั่งหลับตาตลอดเวลา จะลืมตาเวลาที่ดอกไม้ในป่าหิมพานต์บานเพียงครั้งเดียวโดยออกจากฌานด้วย ถ้าไม่ได้ออกจากฌานแล้วลืมตาไฟก็จะไหม้

เมื่อพระแม่โพสพเข้าไปหาฤาษีนั้น กลิ่นดอกไม้ก็ไปเข้าจมูกฤาษี ฤาษีจึงลืมตา ไฟไหม้พระแม่โพสพลงเป็นเถ้า หล่นข้างหน้าฤาษี ฤาษีเห็นดังนั้นก็แปลกใจ และสงสารจึงชุบขึ้นมา พระแม่โพสพจึงบอกวัตถุประสงค์ว่าตนต้องการจะสละเนื้อของตนให้เป็นข้าวให้ชาวโลกกิน แล้วกลายรูปเป็นเมล็ดข้าว พระฤาษีจึงใช้ไม้เท้าตีลงบนข้าวและอธิษฐาน ข้าวแตกกระจายเป็นแมลงเม่าบินลงมาตกทั่วภาคพื้นดิน มนุษย์จึงเก็บพืชพันธุ์ไปปลูกให้ลูกหลานกิน ในเดือน 10-11 ข้าวตั้งท้อง ตะวันจะอ้อมข้าวเพราะเกรงใจแม่โพสพที่กำลังตั้งท้อง

บทความ : พระแม่โพสพ โดย... นางแพ กิจประสงค์



กลุ่มชาวนา
ณ บ้านสนม ต.สนม อ.สนม จ.สุรินทร์ ได้มีการก่อตั้งกลุ่มชาวนาขึ้น ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือสมาชิกภายในกลุ่ม โดย...คนที่เป็นสมาชิกในกลุ่มชาวนา แรกเริ่มจะนำข้าวเปลือกมาลงทะเบียน เทกองรวมกันไว้ เมื่อเสร็จสิ้นจากการทำบุญสู่ขวัญข้าวแล้ว ข้าวในกองที่ได้จะนำไปเป็นทุนช่วยเหลือชาวนาในกลุ่มสมาชิกตามสมควรในโอกาสต่อไป... และต่อมา...ได้ปรับเปลี่ยนการลงทะเบียนในรูปแบบของเงินอีกช่องทางหนึ่งเพื่อความสมบูรณ์ และมั่นคงให้กับกลุ่มชาวนาต่อไป...

กลุ่มชาวนา ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2522 จนถึงปัจจุบันนี้ กลุ่มชาวนาได้ถือกำเนินเกิดมาแล้ว 32 ปี เป็นการพึ่งพาตนเองภายในกลุ่ม ประกอบไปด้วย

กลุ่มชาวนา กลุ่มที่ 1
ได้แก่ กลุ่มชาวนาบ้านสนม หมู่ที่ 1 , 2 , 11 และบ้านโดน หมู่ที่ 8

กลุ่มชาวนา กลุ่มที่ 2
ได้แก่ กลุ่มชาวนาบ้านสนม หมู่ที่ 3




กลุ่มชาวนา กลุ่มที่ 1

บ้านสนม หมู่ที่ 1 , 2 , 11 และบ้านโดน หมู่ที่ 8
ต.สนม อ.สนม จ.สุรินทร์






































ดู ที่ทำการกลุ่มชาวนา กลุ่มที่ 1 ในแผนที่ขนาดใหญ่กว่า




กลุ่มชาวนา กลุ่มที่ 2

บ้านสนม หมู่ที่ 3 ต.สนม อ.สนม จ.สุรินทร์

























ดู ที่ทำการกลุ่มชาวนา กลุ่มที่ 1 ในแผนที่ขนาดใหญ่กว่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น