ปราสาทช่างปี่ เป็นอโรคยศาล หรืออโรคยศาลา หรือโรงพยาบาล หนึ่งในจำนวน 102 แห่ง ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมโบราณ โปรดให้สร้างขึ้น ตั้งอยู่ที่บ้านช่างปี่ ตำบลช่างปี่ อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 18 มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยศิลาแลง และหินทราย
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 กรมศิลปากร ได้ทำการบูรณะปราสาทช่างปี่ พบโบราณวัตถุจำนวนมาก ส่วนหนึ่งนำไปเก็บรักษาไว้ (แต่ยังไม่ได้จัดแสดง : พฤษภาคม พ.ศ. 2555) ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ อีกส่วนหนึ่งเก็บรักษาไว้ที่ วัดบ้านช่างปี่
ข่าวเกี่ยวกับปราสาทช่างปี่
ที่มา : เดลินิวส์ , 16 ส.ค. 55 , 19:53 น.
จากกรณี นายชัยณรงค์ ทองหล่อ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 บ้านช่างปี่ ต.ช่างปี่ อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ พร้อมชาวบ้านนิมนต์พระสงฆ์ 9 รูป มาประกอบพิธีสวดอัญเชิญเทพเจ้า เพื่อขอขมาต่อเทพผู้รักษาปราสาทหินช่างปี่ ไม่ให้ทำร้ายหรือเอาชีวิตชาวหมู่บ้านอีก หลังมีความเชื่อว่าตั้งแต่ปี 53 ที่มีการขุดแต่งปฏิสังขรณ์ปราสาท พบวัตถุโบราณจำนวนมาก แล้วมีการนำออกไปจากตัวปราสาท จนมีคนในตำบลล้มตายติดต่อกันหลายศพอย่างผิดปกติ รวมทั้งมีอาถรรพ์เกิดขึ้นบ่อยครั้ง
เกี่ยวกับความคืบหน้าในนี้ เมื่อวันที่ 16 ส.ค. นายดุสิต ทุมมากรณ์ หน.อุทยานประวัติศาสตร์แห่งชาติพิมาย รักษาการแทน ผอ.การสำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ดูแลโบราณสถานในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ เปิดเผยว่า ปราสาทช่างปี่ มีการขุดพบเมื่อ เม.ย. 53 ที่ผ่านมา และวัตถุโบราณรวม 51 ชิ้น เจ้าหน้าที่ศิลปากรได้นำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ จำนวน 25 ชิ้น ส่วนที่เหลืออีก 26 ชิ้น ชาวชุมชนบ้านช่างปี่ได้ขอนำไปเก็บไว้ที่วัดช่างปี่ จึงได้ทำข้อตกลงร่วมกันว่าชาวบ้านจะต้องช่วยกันดูแลรักษาไว้อย่างดี จัดเวรยามคอยรักษาความปลอดภัย ไม่ให้มีการลักขโมยหรือเก็บไปเป็นสมบัติส่วนตัว
รักษาการแทน ผอ.สำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา กล่าวอีกว่า ตามขั้นตอนและกฎหมายแล้ว วัตถุโบราณที่มีการขุดค้นพบจะต้องนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ ที่สำคัญได้ทำสัญญาวงเงินประกันสำหรับการเก็บรักษาวัตถุโบราณทั้ง 26 ชิ้น ไว้เป็นเงิน 12.86 ล้านบาท ซึ่งกรมศิลปากรได้ประเมินราคาวัตถุโบราณทั้ง 26 ชิ้นเอาไว้แล้ว ถ้าหากเกิดการสูญหาย ชาวชุมชนหรือวัดหรือ อบต.ช่างปี่ จะต้องชดใช้เงินคืนแก่กรมศิลปากรตามระเบียบกฎหมาย ซึ่งกรณีอย่างนี้เคยเกิดขึ้นที่ จ.ร้อยเอ็ดมาแล้ว
นายดุสิต กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาทางเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้เข้าไปพูดคุยกับชาวบ้านมาโดยตลอดว่า วัตถุโบราณที่ขุดพบในปราสาทเป็นสมบัติของชาติ ไม่ใช่สมบัติของชุมชน ตามระเบียบกฎหมายต้องเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์เท่านั้น แต่ชาวบ้านก็ไม่ยอม เจ้าหน้าที่ก็อะลุ้มอล่วยให้ และไม่เคยมีปัญหาใด ๆ กระทั่งเกิดกรณีที่ชาวบ้านร่ำลือกันถึงการเจ็บป่วยและล้มตาย ชาวบ้านจึงนำไปโยงกับการเก็บรักษาวัตถุโบราณของกรมศิลปากร ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล ทางกรมศิลปากรยืนยันที่จะเดินหน้าชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้าน และพยายามนำวัตถุโบราณ 26 ชิ้นที่มาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ให้ได้ เพราะถ้าหากเจ้าที่เจ้าทางมีจริง ก็ต้องอนุโมทนาให้เจ้าหน้าที่นำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ แม้จะเคยคุยกันมาแล้วหลายรอบก็ตาม แต่เราก็ยืนยันว่าต้องปฏิบัติตามระเบียบกฎหมาย เพราะถ้าหากไม่ทำ ก็อาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
ส่วนที่ ปราสาทช่างปี่ อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ เจ้าหน้าที่ได้เข้าทำการขุดหาร่องรอยที่ประกอบในส่วนโคปุระอย่างต่อเนื่อง โดยมีชาวบ้านจากต่างถิ่นทราบข่าวเข้ามาเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเซียนพระจำนวนมากเดินทางเข้ามาสอบถามและขอดูวัตถุโบราณที่ขุดได้ ก่อนจะพากันไปชมวัตถุโบราณที่เก็บรักษาไว้ที่วัดอย่างคึกคักด้วย
สำหรับปราสาทช่างปี่ จัดเป็นอโรคยาศาล ในจำนวน 102 แห่งที่พระชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์แห่งเมืองกัมพุช ยุคขอมโบราณ ทรงสร้างไว้ตามรายทางที่เสด็จไปตามหัวเมืองต่างๆ สร้างด้วยหินศิลาแลง และชั้นประตูหิต มีโคปุระ บรรณาลัย และกำแพง ปราสาทพร้อมบาราย 3 แห่ง บนเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่เศษ เพื่อเป็นการรักษาพยาบาลประชากรของพระองค์ ปัจจุบันได้รับการขุดแต่งเพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์จากกรมศิลปากร คาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงเดือน เม.ย.56 ตรงกับพิธีเซ่นสรวงบูชาและการแสดงแสงสีเสียงตำนานปราสาทช่างปี่ในห้วงเดือนเม.ย.ของทุกปี ขณะที่ยังมีเหตุอาถรรพ์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามข่าว
ดู ปราสาทช่างปี่ ในแผนที่ขนาดใหญ่กว่า
ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง
1. วัดบ้านช่างปี่ ต.ช่างปี่ อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์
2. ผลการค้นหา คำค้น " ปราสาท "
3. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ อ.เมือง จ.สุรินทร์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น