วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2554

วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร

ความเป็นมาของวัดป่าสุทธาวาส
หลวงปู่เสาร์ กันตสีลเถระ กับ หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระได้รับการอาราธนาจาก อุบาสิกาสามพี่น้อง ได้แก่ นางนุ่ม, นางนิล ชุวานนท์ และนางลูกอินทร์ วัฒนสุชาติ ผู้มีความเลื่อมใสในพระอาจารย์ทั้งสอง มาจำพรรษา ณ เสนาสนะป่าบ้านบาก ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ต่อมาจึงได้จัดสร้างเป็นวัดป่าสุทธาวาสในเวลาต่อมา

ภายหลังที่ท่านจากภาคเหนือมาจำพรรษาที่วัดป่าโนนนิเวศน์ จ.อุดรธานีแล้ว คณะศรัทธาชาวสกลนครได้กราบอาราธนาท่านมาจำพรรษา ณ วัดป่าสุทธาวาสอีกครั้งใน พ.ศ. ๒๔๘๔ แล้วท่านจึงไปจำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านโคก จวบจนวาระที่ท่านใกล้มรณภาพจึงได้มาทิ้งขันธ์ ณ วัดป่าสุทธาวาสใน พ.ศ. ๒๔๙๒


วาระนิพพาน ณ วัดป่าสุทธาวาส
หลังจากที่ท่านพักอาพาธที่วัดป่าบ้านกลางโนนภู่ ๑๑ วันแล้ว คณะศิษย์นุศิษย์ได้อาราธนาองค์หลวงปู่มั่นนอนในเปลพยาบาลแล้วนำท่านขึ้นรถเพื่อมาพัก ณ วัดป่าสุทธาวาส ออกเดินทางแต่เช้าถึงวัดป่าสุทธาวาสประมาณเกือบ ๑๒ นาฬิกา จากบันทึกของหลวงตาทองคำ จารุวณฺโณผู้อุปฐากองค์หลวงปู่มั่นในช่วงอาพาธได้บันทึกเหตุการณ์ในช่วงที่องค์ท่านมรณภาพไว้ในหนังสือ " บันทึกวันวาน " ไว้ดังนี้

"... จากพรรณานิคม ถึงวัดป่าสุทธาวาส สกลนคร เกือบ ๑๒ นาฬิกา เพราะทางหินลูกรังกลัวจะกระเทือนมาก ท่านฯ ก็หลับมาตลอด นำท่านฯ ขึ้นกุฏิ ศิษย์ผู้ใกล้ชิดก็มี ผู้เล่า ท่านวัน ท่านหล้า ผู้จัดที่นอนให้ท่านฯ ได้ผินศีรษะไปทางทิศใต้ ปกติเวลานอนท่านฯ จะผินศีรษะไปทางทิศตะวันออก ด้วยความพะว้าพะวัง จึงพากันลืมคิดที่จะเปลี่ยนทิศทางศรีษะของท่านฯ


เวลาประมาณ ๐๑.๐๐ น. เศษ ท่านฯ รู้สึกตัวตื่นตื่นขึ้นจากหลับ แล้วพูดออกเสียงได้แต่อือๆ แล้วก็โบกมือเป็นสัญญาณ แต่ไม่มีใครทราบว่าท่านฯ ประสงค์สิ่งใด มีสามเณรรูปหนึ่งอยู่ที่นั้น เห็นท่าอาการไม่ดี จึงให้สามเณรอีกรูปไปนิมนต์พระเถระทุกรูป มีเจ้าคุณจูม พระอาจารย์เทสก์ พระอาจารย์ฝั้น เป็นต้น มากันเต็มกุฏิ เท่าที่สังเกตดู ท่านใกล้จะละสังขารแล้ว แต่อยากจะผินศีรษะไปทางทิศตะวันออก ท่านพลิกตัวไปได้เล็กน้อย ท่านหล้า ( พระอาจารย์หล้า เขมปตฺโต ) คงเข้าใจ เลยเอาหมอนค่อยๆ ผลักท่านไป ผู้เล่าประคองหมอนที่ท่านหนุน แต่ท่านรู้สึกเหนื่อยมาก จะเป็นการรบกวนท่านฯ ก็เลยหยุด ท่านฯ ก็เห็นจะหมดเรี่ยวแรง ขยับต่อไปไม่ได้ แล้วก็สงบนิ่ง ยังมีลมหายใจอยู่ แต่ต้องเงี่ยหูฟัง ท่านวันได้คลำชีพจรที่เท้า ชีพจรของท่านเต้นเร็วชนิดรัวเลย รัวจนสุดขีดแล้วก็ดับไปเฉยๆ ด้วยอาการอันสงบ


เป็นอันว่าอวสานแห่งขันธวิบากของท่านฯ ได้สิ้นสุดลงแล้ว ท่ามกลางศิษย์จำนวนมาก ในเวลาประมาณ ๐๒.๐๐ น. เศษๆ ณ วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร เหลือไว้แต่ผลงานของท่านมากมายเหลือคณานับ ..."
ภายหลังจึงได้มีการฌาปนกิจศพของท่าน และประชุมเพลิงศพ ณ วัดแห่งนี้ เมื่อวันอังคารที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ๒๔๙๓ ต่อมาจึงได้สร้างอุโบสถในบริเวณที่ประชุมเพลิง และพิพิธภัณฑ์หลวงปู่มั่นตรงบริเวณกุฏิที่องค์ท่านมรณภาพ


 
 
อุโบสถวัดป่าสุทธาวาส











พิพิธภันธ์บริขารหลวงปู่มั่น
สร้างบนสถานที่ที่หลวงปู่มั่นมรณภาพ









อัฐิธาตุหลวงปู่มั่นประดิษฐานภายในพิพิธภัณฑ์





















 จันทสารเจติยานุสรณ์



 หุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่หลุย จนฺทสาโร



 บริขาร และยาประจำตัว








สภาพในปัจจุบันวัดป่าสุทธาวาสในปัจจุบันกลายสภาพเป็นวัดป่ากลางเมือง เป็นสำนักเรียนสำคัญของพระภิกษุสงฆ์ในสกลนคร ปูชนิยสถานสำคัญภายในวัดนอกจากอุโบสถและพิพิธภัณฑ์หลวงปู่มั่นแล้ว ก็ยังมี "จันทสารเจติยานุสรณ์" เจดีย์พิพิธภัณฑ์หลวงปู่หลุย จนฺทสาโรอีกด้วย โดยเจดีย์นี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชกระแสว่า "ควรสร้างเจดีย์ที่วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ที่วัดนี้ มีอัฐิธาตุของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ท่านจะได้อยู่ใกล้กัน" และยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ร่างแบบเจดีย์องค์นี้ ด้วยพระองค์เอง พระราชทาน


บทนำส่งวัดป่าสุทธาวาส
นายแพทย์ฝน  แสงสิงแก้ว ได้เขียนความทรงจำเรื่องวัดป่าสุทธาวาส สกลนคร เมื่อครั้งมารับราชการที่จังหวัดสกลนคร ในปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๓ เมื่อ ๔๒ ปีมาแล้ว (ซึ่งนายแพทย์เจริญ  วัฒนสุชาติ ได้ร้องขอให้นายแพทย์ฝน  แสงสิงแก้ว เขียนเรื่องวัดป่าสุทธาวาส เมื่อ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๑๕)

วัดป่าสุทธาวาสหรือวัดสุทธาวาส ในครั้งที่นายแพทย์ฝน  แสงสิงห์แก้ว มารับราชการเป็นแพทย์หลวง ในปลายปี ๒๔๗๓ ที่จังหวัดสกลนคร ตำแหน่งนี้ ในปัจจุบันคือ นายแพทย์สถานีอนามัยชั้นหนึ่ง

การมาใช้ชีวิตรับราชการของนายแพทย์ฝน  แสงสิงแก้ว ที่จังหวัดสกลนคร เมื่อถึงวันหยุดก็ใช้ชีวิตเรียบง่าย พักผ่อนที่เกาะดอนสวรรค์ อยู่กลางหนองหารได้เก็บความงามในตัวเมืองสกลนคร เห็นยอดพระธาตุเชิงชุมขึ้นเสียดท้องฟ้ามีเทือกเขาภูพานประกอบที่สวยงามมาก ซึ่งทุกคนยอมรับว่างามมาก

ขุนอุพัทธ์ระบิล  จ่าศาลจังหวัดสกลนคร (ขุนอุพัทธ์ระบิล)  ได้มาพร้อมกับญาติ ๒ คน คือพระยุติกรดำรงสิทธิ์ (ฟอง  รสานนท์) มาดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลจังหวัดสกลนคร และนายฟุ้ง  รสานนท์ เสมียนศาลจังหวัดสกลนคร เมื่อขุนอุพัทธ์ระบิล มารับราชการที่จังหวัดสกลนคร ได้แต่งงานกับนางสาวจันไตร ศิริจันทพันธ์ มีบุตรธิดา ๕ คน และต่อมาได้แต่งงานกับนางเมี้ยน  ภูลวรรณ มีบุตรธิดา ๕ คน และภรรยาคนที่ ๓ นางถนอม  ภูลวรรณ ต่อมาได้บวชเป็นแม่ชี มีบุตรี ๓ คน ได้บอกว่าหลังเมืองออกไปทางเมืองกาฬสินธุ์ สภาพภูมิประเทศจะเป็นเนิน ที่เชิงเนินมีบ้านของท่านขุนภูมิศักดิ์ศึกษากร ศึกษาธิการอำเภอธาตุเชิงชุม (ปัจจุบันตำแหน่งนี้ได้เลิกไปแล้วและอำเภอธาตุเชิงชุมได้เปลี่ยนเป็นอำเภอเมืองและหลังเนินนั้นเป็นป่า (เป็นดงมาก มีไม้กระบาก, ไม้แคน, ไม้ยาง, ไม้มะแงว ปกคลุมอยู่ทั่วไป มีสัตว์ป่า ช้าง เสือ ) ชาวเมืองสกลนครดำริจะสร้างวัดขึ้น และได้เตรียมการเริ่มแผ้วถางทางและเริ่มก่อสร้างคล้ายแบบสำนักสงฆ์ขึ้น ยังไม่มีชื่อเรียกกันว่า “วัดป่า” และ ณ วัดป่าแห่งนี้ ท่านพระอาจารย์เสาร์  กันตสีโล อาจารย์ทางวิปัสนากรรมฐาน และพระภิกษุอื่น จะเดินทางมาปฏิบัติธรรมที่นี่เป็นครั้งคราว

ต่อมา นายแพทย์ฝน  แสงสิงแก้ว ได้ไปเยี่ยมคุณวิศิษฎ์  วัฒนสุชาติ ที่ร้านถนนเจริญเมือง ซึ่งเป็นเพื่อนกัน และได้พบกับภรรยาคุณวิษฎ์ (คุณลูกอินทน์) คุนพี่นุ่ม ชุวานนท์ และคุณพี่นิล  ชุวานนท์ พี่สาวของคุณลูกอินทน์ด้วย คุณพี่นุ่มและน้องเป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และเป็นที่รู้จักของชาวจังหวัดสกลนครเป็นอย่างดีกำลังดำเนินการร่วมกับท่านอื่น ๆ ด้วยการร่วมสร้างกุฎีสำหรับพระสงฆ์และผู้มาปฎิบัติธรรมกรรมฐานอยู่ที่ “วัดป่า”  นายแพทย์ฝน ได้ถาม คุณพี่นุ่ม วัดป่านอกเมืองถัดไปจากบ้านท่านขุนภูมิศักดิ์ศึกษากร ซึ่งท่านขุนอุพัทธ์ระบิลได้บอกไว้เป็นแห่งเดียวกันใช่หรือไม่คุณพี่นุ่มบอกว่าเป็นแห่งเดียวกัน

วัดป่าสุทธาวาส ในอดีตตั้งอยู่ใกล้กับเทือกเขาภูพานอยู่ในภูมิประเทศเป็นพื้นที่สูงเป็นเนินดินทราย เดิมที่ตั้งของวัดป่าสุทธาวาสบริเวณนี้เรียกว่า “ดงบาก” มีป่าไม้กระบาก ไม้แคน ไม้ยาง ไม้มะแงวขึ้นแซมปกคลุมทั่วไป มีสัตว์ป่าชุกชุม เช่น ช้าง เสือ แต่ในปัจจุบันวัดป่าสุทธาวาสไม่มีสภาพเหมือนในครั้งอดีตมีแต่บ้านเรือน ชุมชนปลูกล้อมวัดแทนป่า

ที่มาของการตั้งวัดป่าสุทธาวาส
จากตอนหนึ่งจากความทรงจำเรื่องวัดสุทธาวาส (วัดป่าสุทธาวาส) สกลนคร เขียนโดย      ศ.นพ.ฝน  แสงสิงแก้ว เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๑๕ ได้กล่าวไว้ในหนังสือว่า วันรุ่งขึ้นคุณพี่นุ่มได้พาไปดูบริเวณสถานที่ซึ่งจะสร้างวัดป่า ซึ่งตอนนั้นได้มีการแผ้วถางป่าและได้มีชาวบ้านหลายท่านได้เริ่มสร้างที่ปฏิบัติกิจสงฆ์ขึ้นแล้ว ในวันนั้นพวกเราได้ตกลงเริ่มสร้างกุฏเล็ก สำหรับพระอาจารย์และพระสงฆ์ได้พักนั่งปฏิบัติธรรมเป็นการชั่วคราว จำได้ว่าคุณพี่นุ่ม คุณพี่นิล คุณลูกอินทน์ และผมได้บริจาคสร้างคนละหนึ่งหลัง เป็นกุฎีเล็กขนาดกว้างประมาณ ๓ เมตร X  ๒ เมตรครึ่ง ใต้ถุนสูง ๑ เมตรเศษ มีชานหน้าและพื้นอย่างเดียว ปูด้วยไม้ยาง ส่วนวัสดุอื่น ๆ นั้นฝากั้นด้วยไม้ไผ่ตีขัดแตะ และหลังคามุงด้วยจาก (น่าจะเป็นหญ้าแฝก) กุฎีที่กล่าวนั้นคงมีอายุการใช้ได้เพียง ๕-๖ ปี ก็หมดอายุ แต่เป็นการตั้งต้นให้มีการสร้างอาคารถาวรต่อไปในเวลาต่อมา

การได้มาซึ่งที่ดินในการสร้างสำนักสงฆ์ และต่อมาได้เป็นวัดป่าสุทธาวาส
โดยขุนอุพัทธ์ระบิล มีความศรัทธายกกรรมสิทธิ์ที่ดินถวายให้ ปลูกกุฎีเป็นที่พักสงฆ์เป็นจำนวน ๑๐ ไร่ ๓ งาน ๓๐ ตารางวา พื้นที่มีรูปสี่เหลี่ยมรี ได้รับหนังสือโฉนด เลขที่ ๓๙๗๓

ตามข้อสันนิษฐานการตั้งวัด และที่มาของชื่อวัดป่าสุทธาวาส
ขุนอุพัทธ์ระบิล ได้ถวายที่ดินส่วนตัวให้เป็นที่ตั้งวัดป่าสุทธาวาส (เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ ตามหลักฐานการอนุญาตให้สร้างวัดเลขที่ ๑๓๑ สมัยเจ้าคณะแขวง พระครูวิมลสกลเขต และขุนศรีประทุมวงศ์ นายอำเภอเมืองสกลนคร หนังสือลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๔๘๒ หลักฐานประกอบมีพระธุดงค์มาอยู่แล้วประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๕ - ๒๔๗๙ โดยอาศัย พ.ศ. ที่ติดป้ายกุฎีที่สร้างในสมัยนั้น)

จากข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประวัติและสารคดีวัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนครของพระทองคำ จารุวัณโณ โดยนายแพทย์เจริญ  วัฒนสุชาติ ในหน้า ๖๐ พระทองคำ ท่านได้เล่าประวัติให้นายแพทย์เจริญทราบ และได้บอกว่ามีความเคารพนับถือคุณแม่นุ่ม  ชุวานนท์เหมือน “โยมแม่” ท่านจึงได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับวัดป่าสุทธาวาส เพื่อให้ทราบโดยทั่วไปว่า วัดป่าแห่งนี้สร้างขึ้นโดยความริเริ่มของนพ. เจริญ  ชุวานนท์ ซึ่งเป็นความจริง และในการตั้งชื่อวัดป่าสุทธาวาส คุณแม่นุ่ม ได้ให้ลูกหลานและคนใกล้ชิดชื่อนายคำสอน  แก้วก่า ประชุมปรึกษาหารือกัน ในที่สุดตกลงให้ชื่อว่า “วัดป่าสุทธาวาส” จึงได้นำความกราบเรียนพระเดชพระคุณพระธรรมเจดีย์ ซึ่งพวกเรามักจะเรียกชื่อท่านว่า “เจ้าคุณลุง” ซึ่งท่านก็เห็นชอบด้วย การตั้งชื่อวัดป่าสุทธาวาส เป็นผลมากจาการประชุมของลูกหลานคุณแม่นุ่มและต่อมาวัดป่าสุทธาวาสก็มีคำว่าวัดป่าเข้ามานำหน้าสุทธาวาส จึงมีชื่อว่า วัดป่าสุทธาวาส มาจนตราบเท่าทุกวันนี้

วัดป่าสุทธาวาสได้เกิดขึ้นราวปี พ.ศ.๒๔๗๓ เป็นวัด ๓ พี่น้องได้สร้างถวายพระอาจารย์เสาร์  กันตสีโลก  พระอาจารย์มั่น  ภูริทัตโต และวัดแห่งนี้เป็นวัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ฝ่ายอรัญญวาสีกรรมฐาน และการศึกษาฝ่ายปริยัติธรรม ตามแนวความคิดของพระอาจารย์เสาร์  กันตสีโล และยังเป็นวัดที่พระอาจารย์มั่นมามรณภาพที่นี่ด้วย วัดแห่งนี้จึงมีความสำคัญของฝ่ายฆราวาสและฝ่ายบรรพชิต ทำให้วัดป่าสุทธาวาสมีพระภิกษุมาจำพรรษาและมีเจ้าอาวาสเรียงลำดับดังนี้

ลำดับเจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาส
๑.พระอาจารย์หล้า   เขมปัตโต    ประมาณ  พ.ศ. ๒๔๗๓
๒.พระอาจารย์โชต
๓.พระอาจารย์เสาร์   กันตสีโล
๔.พระอาจารย์พรหม   จิรปุญโญ
๕.พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปสโส) ประมาณ พ.ศ.๒๔๘๓ - ๒๔๘๙
๖.พระอาจารย์มหาไพบูลย์
๗.พระอาจารย์มหาทองสุข  สุจิตโต พ.ศ. ๒๔๘๙ - ๒๕๐๘
๘.พระอาจารย์สิม  พุทธาจาโร  พ.ศ. ๒๕๐๘ - ๒๕๐๙
๙.พระอาจารย์วัน  อุตตโม   พ.ศ. ๒๕๐๙ - ๒๕๐๙
๑๐.พระอาจารย์แว่น  ธนปาโลก พ.ศ. ๒๕๑๐ - ๒๕๒๓
๑๑.พระอาจารย์ประมูล   รวิวังโส  พ.ศ. ๒๕๒๓ - ๒๕๓๖
๑๒.พระอาจารย์คำดี   ปัญโญภาโส  พ.ศ. ๒๕๓๗ - ปัจจุบัน



ดู วัดป่าสุทธาวาส จ.เลย ในแผนที่ขนาดใหญ่กว่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น