วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2555

ศาลเจ้าพ่อศรีนครเตาท้าวเธอ

ศาลเจ้าพ่อศรีนครเตาท้าวเธอ    อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ สร้างเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2528





ประวัติ เจ้าพ่อศรีนครเตาท้าวเธอ
เมืองรัตนบุรี ตั้งขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. 2325 พร้อมๆ กับการตั้งกรุงเทพฯ ผู้ก่อตั้งเมืองรัตนบุรี คือ หลวงศรีนครเตาท้าวเธอ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "เจ้าพ่อศรีนครเตาท้าวเธอ"


ตามตำนาน และคำบอกเล่าต่อๆ กันมานั้น กล่าวว่า... เจ้าพ่อศรีนครเตาท้าวเธอ ท่านมีนามเดิมว่า "สี" หรือ "เชียงสี" ประวัติของท่านก่อนที่จะมาตั้งเมืองรัตนบุรีนั้นมีอยู่ว่า ประมาณปี พ.ศ. 2280 มีชนพวกหนึ่งซึ่งเรียกกันว่า " ส่วย " เพราะมีภาษาของตน โดยเฉพาะได้อพยพมาจากเมืองอัตตะปือแล่นแป อยู่ทางตะวันออกของเมืองจำปาสัก ชาวส่วยดังกล่าวนี้มีหนัวหน้าคุมมา แยกกันเป็น 6 พวก ได้มาตั้งถิ่นฐานแยกย้ายกันอยู่ในเขตสุรินทร์ และศรีสะเกษ ทุกวันนี้

หัวหน้าพวกส่วยเหล่านี้ มีดังนี้...
  • พวกที่ 1 มีหัวหน้าชื่อ "เชียงปุม" ตั้งถิ่นฐานที่บ้านเมืองที
  • พวกที่ 2 มีห้วหน้าชื่อ "เชียงสี" มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านเมืองเตา
  • พวกที่ 3 มีหัวหน้าชื่อ "เชียงฆะ" มาตั้งถิ่นฐานที่เมืองสังขะ
  • พวกที่ 4 มีหัวหน้าชื่อ "เชียงขัน" มาตั้งถิ่นฐานที่เมืองขุขันธ์
  • พวกที่ 5 มีหัวหน้าชื่อ "เชียงพัน" มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านลำดวน
  • พวกที่ 6 มีหัวหน้าชื่อ "เชียงชัย" มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านจารพัตร
พวกส่วยเหล่านี้ประกอบอาชีพในการทำนา ทำไร่ เป็นส่วนมาก เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2302 ในสมัยของพระเจ้าอยู่หัวสุริยามรินทร์ กรุงศรีอยุธยา ช้างเผือกได้แตกโรง และได้พลัดหนีหายมาทางเมืองพิมาย จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าสองพี่น้อง (พระยาจักรี และพระยาสุรสีห์) คุมพล 30 คน ออกติดตาม ขบวนติดตามช้างเผือกได้ผ่านทางเมืองเตา และได้พบ "เชียงสี" กับลูกชายชื่อ "เชียงลี" ที่ไร่ข้าวใกล้บ้าน สอบถามได้ความว่า... มีช้างเผือกผ่านมาทางนั้น เจ้าสองพี่น้องจึงให้ "เชียงสี" ติดตามด้วย เพราะรู้ลู่ทางดี ในการติดตามครั้งนั้น "เชียงสี" ได้บอกกล่าวให้เพื่อนๆ ทั้ง 5 คน ได้ช่วยกันติดตามด้วย

ในที่สุดก็ได้พบช้างเผือกที่หนองโช้ก (หนองบัว) ในขณะที่กำลังลงเล่นน้ำอยู่ โดยมีช้างป่าเป็นบริวารล้อมอยู่มากมาย "เชียงสี" เป็นผู้มีวิชาอาคมขลัง ได้ทำพิธีจับช้าง โดยเสกก้อนดิน 8 ก้อน ขว้างไปทั้ง 8 ทิศ กล่าวคำอัญเชิญพญาช้างเผือกกลับวัง เพราะพระเจ้าอยู่หัวให้มาตามแล้วนั้น เมื่อตบมือ และโห่ร้องขึ้นพร้อมกัน บรรดาช้างป่าทั้งหลายต่างก็พากันแตกตื่น วิ่งหนีไปหมด เหลืออยู่แต่พญาช้างเผือก "เชียงสี" ก็กวักเมือเรียกขึ้นฝั่ง แล้วเชิญเจ้าสองพี่น้องขึ้นประทับ แล้วขบวนติดตามช้างเผือกก็เดินทางกลับกรุงศรีอยุธยา ก่อนจะกลับเจ้าสองพี่น้องได้ทำพิธีผูกเสี่ยวกับหัวหน้าส่วยทั้ง 6 ด้วย และสั่งว่าเดือนห้าให้พากันลงไปเยี่ยมที่กรุงด้วย

เมื่อถึงเดือนห้า "เชียงสี" ก็ชักชวนพรรคพวกทั้งห้า ลงไปเยี่ยมเจ้าสองพี่น้องตามที่ได้รับปากไว้แล้ว ในการไปเยี่ยมเสี่ยวครั้งนี้ เชียงสีกับพวกได้จัดหาของไปฝากเจ้าสองพี่น้องหลายอย่าง คือ....
  1. โค้งสามหวาย (หวาย 3 มัด มัดเป็นวงกลม)
  2. ลึมสามกะบอง (ไต้ 3 มัด มัดหนึ่งมีไต้ 10 เล่ม เรียกว่า 1 ลึม)
  3. ตะกุบตะกับสอง (เต่า 2 ตัว)
  4. ละอองละแองสี่ (แลน - ตะกวด 4 ตัว)
  5. ละวี่ละวอนบั้งห้า (น้ำผึ้งเดือนห้า 5 กระบอกไม้ไผ่)
เจ้าสองพี่น้องได้นำหัวหน้าส่วยทั้งหมด เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว และได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองทุกคน สำหรับ "เชียงสี" นั้นได้เป็น "หลวงศรีนครเตาท้าวเธอ" ครองเมืองเตา กาลต่อมาที่เมืองเตา การทำมาหากินไม่สะดวก "หลวงศรีนครเตาฯ" จึงนำลูกน้องส่วนหนึ่งมาตั้งเมืองใหม่ ใกล้ฝั่งห้วยแก้ว (มีต้นแก้วชุกชมสองฝั่งห้วย) ซึ่งเป็นแม่น้ำใหญ่ มีน้ำตลอดปี บ้านใหม่ที่ตั้งนี้เรียกว่า บ้านหวาย หรือ บ้านกุดหวาย เพราะมีป่าหวายมากมาย

เมื่อบ้านกุดหวายเจริญขึ้น มีคนมากขึ้น "หลวงศรีนครเตาฯ" จึงได้ขอพระราชทานนามเมืองใหม่นี้ว่า "เมืองรัตนบุรี" เพราะตั้งอยู่บนฝั่งห้วยแก้ว เมื่อราวปี พ.ศ. 2325 สืบมาจนทุกวันนี้

ในบั้นปลายชีวิต "หลวงศรีนครเตาฯ" ท่านต้องพระอาญา เพราะเผลอไปเปิดพระราชสาส์นลับ (ตามคำอ้อนของภรรยา) ต้องมีโทษถึงประหารชีวิต แต่ท่านได้หนีไปบวชเสียก่อน โดยไปบวชอยู่ที่วัดบ้านไพรขลา และเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ว่า "เมื่อย" เพื่อไม่ให้คนรู้ ท่านบวชอยู่นาน จนชาวบ้านรดน้ำให้ท่านเป็นอุปัชฌาย์ และคนทั่วไปมักเรียกท่านว่า "ฌาย์เมื่อย" และท่านก็ได้อยู่จนวาระสุดท้ายในผ้าเหลืองที่วัดบ้านไพรขลานั่นเอง ท่านสิ้นบุญเมื่อปี พ.ศ. 2338 รวมอายุได้ประมาณ 86 ปี

  • หมายเหตุ : บันทึกจากปากคำของ "ปู่แสน ผาจีบ" อายุ 96 ปี ท่านถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2495 รวบรวมโดย... นายจรัส  ไกรแก้ว

















ภาพบน และล่าง : ศาลหลักเมือง อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์











































ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง
1. ผลการค้นหา คำค้น "หลักเมือง หลักบ้าน"
2. ประวัติศาสตร์ เมืองจารพัต
3. ประวัติเมืองสังขะ
4. ปราสาทเมืองที

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น