“ทำอย่างไร ประเทศชาติประชาชนจะอยู่ดีกินดี มีความสามัคคีปรองดองกัน”
“ให้เข้าหาพระศาสนา เพราะศาสนาสอนให้ละชั่วกระทำความดี ทำใจให้ผ่องใส”
หลวงพ่อพระอาจารย์ฝั้นถวายวิสัชนา
“คนส่วนมากทำดี คนส่วนน้อยทำชั่ว จะทำให้คนส่วนมากเดือดร้อนไหม ทำอย่างไรจึงจะแก้ไขได้”
“ขอถวายพระพร ทุกวันนี้คนไม่รู้ศาสนา จึงเบียดเบียนกัน ถ้าคนเรานึกถึงคนแล้ว ก็ไม่เบียดเบียนกัน เพราะต้องการความสุขความเจริญ คนอื่นก็เช่นกัน คนทุกวันนี้เข้าใจว่าศาสนาอยู่กับวัด อยู่ในตู้ในหีบ ในใบลาน อยู่กับพระพุทธเจ้าที่ประเทศอินเดียโน่น จึงไม่สนใจ บ้านเมืองจึงเดือดร้อนวุ่นวาย มองหน้ากันไม่ได้ ถ้าคนเราถือกันเป็นบิดามารดา เป็นพี่น้องกันแล้วก็สบาย ไปมาหาสู่กันได้ เพราะใจเราไม่มีเวร เวรก็ไม่มี ใจเราไม่มีกรรม – กรรมก็ไม่มี ฉะนั้นให้มีพรหมวิหารธรรม อย่างมหาบพิตร เสด็จมานี้ ทุกอย่างเรียบร้อยหมด”
ตามประวัติของหลวงพ่อพระอาจารย์ฝั้น ไม่ว่าไปอาศัยอยู่ ณ สถานที่ใด จะเป็นภูเขา ถ้ำ หรือป่าช้าพงไพร แม้จะเป็นเพียงชั่วระยะเวลาสั้น ๆ หลวงพ่อพระอาจารย์ฝั้นจะพัฒนาความเจริญให้สถานที่เหล่านั้น และแนะนำผู้คนให้ทำความสะอาดบริเวณที่อยู่และถนนหนทางให้สะอาด งามตาอยู่เสมอ ในด้านการสร้างพัฒนาในท้องถิ่น เป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้ท้องถิ่นเหล่านั้นเจริญ ตัวอย่างการสร้างวัดป่าภูธรพิทักษ์ตั้งอยู่ที่ อำเภอเมือง วัดถ้ำขามและวัดป่าอุดมสมพรตั้งอยู่ที่อำเภอพรรณนานิคม วัดทั้งสามแห่งนี้มีความผูกพันและบั้นปลายชีวิตของพระอาจารย์ฝั้น วัดถ้ำขามกับวัดป่าอุดมสมพรยิ่งผูกพันมาก และวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของพระอาจารย์ฝั้น ได้ละสังขาร ณ วัดป่าอุดมสมพร อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร
วัดป่าภูธรพิทักษ์
พระอาจารย์ฝั้นได้ลาญาติโยม หลังจากเสร็จงานการบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทานแด่บุพการีแล้ว เพื่อเดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานี เนื่องจากได้รับนิมนต์ไปร่วมงานศพคุณแม่ชีสาลิกา จึงได้เดินทางจากบ้านบะทอง เข้าสู่ตัวจังหวัดสกลนคร มาถึงบ้านพานได้แวะพักในป่าช้าหนึ่งคืน รุ้งเช้าเดินทางต่อมายังวัดป่าธาตุนาเวง (วัดป่าภูธรพิทักษ์) ซึ่งวัดแห่งนี้ พระอาจารย์พรหม จิรปุญโญ (ต่อมาได้มาอยู่ที่วัดประสิทธิธรรม บ้านดงเย็น อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี และได้มรณภาพที่นี่) เคยเป็นเจ้าอาวาสมาก่อน
วัดป่าภูธรพิทักษ์ เดิมชื่อ วัดป่าธาตุนาเวง ตั้งอยู่บริเวณป่าดงดิบ อยู่ใกล้กับโรงเรียนพลตำรวจ เขต ๔ และในปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร (เดิมเป็นโรงเรียน มาเป็นวิทยาลัย และมาเป็นสถาบันราชภัฏ สกลนคร จนได้รับการสถาปนายกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๗) ได้มาแทนโรงเรียนพลตำรวจเขต ๔ ที่ยกเลิกไป การเดินทางของพระอาจารย์ฝั้นเพื่อไปงานศพของแม่ชีสาลิกาที่จังหวัดอุบลราชธานีนั้น ท่านต้องมาพักที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ ตั้งใจว่าจะพักเพียงคืนเดียวที่วัดแห่งนี้ แต่เนื่องจากได้มีผู้นิมนต์ให้จำพรรษาอยู่ที่จังหวัดสกลนคร จะได้แบ่งเบาภาระพระอาจารย์มั่น พระอาจารย์ใหญ่สายธรรมยุติกนิกาย ประกอบกับกิจที่จะต้องไปงานศพแม่ชีสาลิกาที่ตั้งใจไว้ ได้หมดความจำเป็นเพราะศพแม่ชีสาลิกาได้เผาเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระอาจารย์ฝั้นจึงตกลงรับปากจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นต้นมา ระหว่างที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้ ได้บูรณะวัด ซ่อมแซมกุฎีที่พังให้มีสภาพดี สำหรับเป็นที่พักอาศัย และต่อมาวัดธาตุนาเวงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นวัดป่าภูธรพิทักษ์
พระอาจารย์ฝั้น เป็นพระนักพัฒนาทุกด้าน ไม่ว่าท่านจะพักอยู่ ณ ที่ใด เพียง ๓ วัน ๗ วันก็ตาม ท่านจะแนะนำให้ชาวบ้านทำความสะอาดบ้านเรือน ตลอดถนนหนทางให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่ว่าท่านจะพักป่าช้า หมู่บ้าน เชิงภูพาน ถนนหนทางที่ท่านเดินบิณฑบาต ชาวบ้านจะร่วมกันทำความสะอาดอยู่เสมอ
พระอาจารย์ฝั้น ก่อนที่จะมาพักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ บริเวณแถบนี้รกไปด้วยป่าหญ้า ไข้มาลาเรียชุกชุม ตำรวจป่วยเป็นไข้มาลาเรียขึ้นสมอง กระโดดหน้าต่างกองร้อยตาย ครอบครัวตำรวจเชื่อว่าเป็นเพราะผีเจ้าพ่อหนองหญ้าไซโกรธ พระอาจารย์ฝั้นพยายามอธิบายให้ตำรวจเหล่านั้นได้เข้าใจในเหตุผลและให้เลิกเชื่อถือผีสาง แต่ตำรวจและครอบครัวเหล่านั้นก็ยังไม่ยอมเชื่อในการอธิบายด้วยเหตุผลของท่าน
ต่อมาทางโรงเรียนพลตำรวจ เขต ๔ ได้นิมนต์พระอาจารย์ฝั้นไปเทศน์ที่กองร้อย ท่านได้ปรารภกับผู้กำกับการตำรวจว่าถ้าอยากให้เกิดความเป็นอยู่ อยู่เย็นเป็นสุขก็ควรจัดทำสถานที่ให้สะอาดขึ้น สร้างถนน ถางป่า และหญ้าให้โล่งเตียน อากาศจะได้ปลอดโปร่งถ่ายเทได้ดี สำหรับหนองหญ้าไซ ให้ขุดลอกเป็นสระน้ำ ดูสวยงามและได้ประโยชน์ในการใช้น้ำด้วย ผู้กำกับประชุมตำรวจ ตกลงพร้อมที่จะพัฒนาทำทุกอย่างยกเว้นขุดลอกหนองหญ้าไซ เพราะกลัวผีเจ้าพ่อหนองหญ้าไซจะโกรธ จะเอาชีวิตตำรวจและครอบครัว
การพัฒนาโรงเรียนพลตำรวจ เขต ๔ ด้วยการเริ่มต้นสร้างถนน ทำสนามฟุตบอล สนามเด็กเล่น ถางหญ้า ถางป่าจนสะอาด
พระอาจารย์ฝั้นได้ถูกนิมนต์ไปประชุมอบรมเทศน์ให้กับตำรวจที่กองร้อยอีก ท่านได้หยิบยกปัญหาการขุดลอกหนองหญ้าไซขึ้นมาอีกครั้ง ทุกคนต่างก็พูดกันว่าไม่กล้า กลัวเจ้าพ่อจะหักคอเอา แต่ถ้าท่านพระอาจารย์มานั่งเป็นประธานดูพวกผมขุดลอกหนองหญ้าไซจึงจะยอมทำ พระอาจารย์ฝั้นตอบตกลง การขุดลอกหนองหญ้าไซได้เริ่มขึ้นในโอกาสต่อมา ต่อหน้าพระอาจารย์ฝั้นจนหนองหญ้าไซกลายเป็นสระน้ำขึ้นมา อากาศดีขึ้น ไข้มาลาเรียที่เคยชุกชุมค่อย ๆ เบาบางลง จนโรคไข้มาลาเรียได้หายไปในที่สุด
พระอาจารย์ฝั้น ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ (วัดป่าธาตุนาเวง) เป็นเวลาถึง ๙ ปี ท่านได้พัฒนาวัด และรวมถึงบริเวณใกล้เคียงกับวัดให้เกิดสุขลักษณะที่ดี โดยเฉพาะบริเวณโรงเรียนพลตำรวจ เขต ๔ เป็นตัวอย่าง เมื่อออกพรรษาเสร็จงานกฐิน พระอาจารย์ฝั้น ท่านจะพาภิกษุ สามเณร เดินธุดงค์ไปวิเวกตามสถานที่ต่าง ๆ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ เมื่อออกพรรษา ท่านได้พาภิกษุสามเณร เดินธุดงค์ไปวิเวกที่ ภูวัว ในท้องที่ อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย
พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
วัดป่าภูธรพิทักษ์ อ.เมือง จ.สกลนคร
ดู วัดป่าภูธรพิทักษ์ ในแผนที่ขนาดใหญ่กว่า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น